นี่เป็นบทความชุดรวมการคาดการณ์ที่ถูกพูดถึงปี 2021 ในหัวข้อ เราคาดหวังว่าจะเจออะไรได้บ้าง และนี่คือหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิต โดยเฉพาะในส่วนของการทำงาน ว่าจะมีมุมไหนที่ต้องจับตาดูบ้าง

  • โลกถูกเร่งให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น
  • ภัยทางอินเทอร์เน็ตที่อันตรายมากขึ้น
  • ชีวิตส่วนตัวที่น้อยลง กับรูปแบบการทำงานแบบล้ำยุคกลายเป็นกิจวัตรใหม่

โลกถูกเร่งให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น

เว็บ analyticsinsight ตอบคำถามเรื่องสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในปี 2021 โดยวิเคราะห์ว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ เริ่มปรับตัวไปสู่การใช้ระบบออนไลน์และการใช้สมองกลช่วยทำงานมากขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านไอทีเสียมาก ที่สามารถปรับไปใช้การทำงานแบบ Work from Home ได้ทันที และในปีนี้ก็น่าจะทำมากขึ้นด้วย เพราะลดต้นทุนการดูแลออฟฟิศและมีความปลอดภัยเรื่องโรคระบาด

ซึ่งมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดสำรวจพบว่าแรงงานในสหรัฐถึงร้อยละ 42 จากทั้งหมดทำงานจากที่บ้านในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะยังเติบโตมากขึ้น โดยเชื่อว่าแนวโน้มการทำงานที่บ้านจะโตไปอีกแม้โรคระบาดจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม

ซึ่งแม้ในภาคอุตสาหกรรมยังปรับตัวไม่ได้มากนักในปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2021 นี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ จะเข้าสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้นเช่นกัน

จากการประชุม World Economic Forum ในปีที่ผ่านมา มีผู้บริหารชั้นนำกว่าร้อยละ 80 กำลังเร่งกระบวนการปรับการทำงานเป็นดิจิทัลและเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่วนนายจ้างอีกร้อยละ 50 ก็คาดหวังว่าระบบการทำงานแบบอัตโนมัติทั้งหลายจะเข้ามาทดแทนกระบวนการทำงาน และบางตำแหน่งงานของบริษัทด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รวมถึง การรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต การค้าปลีก และอื่น ๆ

จะเห็นว่าภาคธุรกิจกำลังมองหาความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลดปัญหาที่มาจากมนุษย์ ซึ่งอดีตอาจเป็นแค่เรื่องความผิดพลาดในการทำงาน หรือประสิทธิภาพความแม่นยำ ความเร็ว และระยะเวลาทำงานที่แพ้เครื่องกลเท่านั้น แต่ตอนนี้มนุษย์ยังนำมาซึ่งปัญหาเรื่องโรคระบาดที่ไม่มีใครตอบได้ว่า โควิด-19 จะเป็นการระบาดครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่หากเกิดในธุรกิจใดแล้ว โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ก็เรียกว่าต้องหยุดกิจการกันไปได้เลย จึงถือเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากต่อธุรกิจ

สิ่งที่ทางเว็บไซต์มองว่าต้องจับตามองคือ การใช้งาน RPA หรือ Robotic Process Automation ที่เป็นการใช้เครื่องกลและคอมพิวเตอร์ทำงานในออฟฟิศแทนมนุษย์ ตลอดจนการใช้งาน AI หรือ Intelligent Automation เหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานในภาคการเงิน และการบริหารงานบุคคลมากที่สุด เช่นการใช้เอไอช่วยบริหารงบการเงิน ความคล่องตัว ลดความผิดพลาดทางตัวเลข และเพิ่มผลกำไรที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในที่สุด

ส่วนในภาคการผลิต โกดัง การจัดส่ง จะเห็นการใช้หุ่นยนต์ทำงานมากขึ้น ทั้ง Autonomous Mobile Robots (AMR) หรือ Cobots (Collaborative Robots) ที่จะทั้งเข้ามาทำงานแทน และทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยเฉพาะงานที่เสี่ยงอันตรายหรือต้องสกปรก ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจะนี้จะกระทบกับแรงงานในบริษัทขนาดเล็กมากที่สุด เพราะการใช้หุ่นยนต์จะคุ้มทุนมากที่สุดกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีพื้นที่ไม่มากนัก เช่น พวกร้านอาหารด้วย

และที่เริ่มปรับเปลี่ยนด้วยความจำเป็นไปก่อนหน้าแล้วอย่าง ภาคค้าปลีก และการขนส่งสินค้า ซึ่งโดนผลกระทบจากโควิด-19 ไปเต็ม ๆ และมีอัตราลูกค้าสูงขึ้นมากจากการต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ก็ได้ใช้ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เข้ามาจัดการระบบมากขึ้น ลดคนในส่วนที่ไม่จำเป็นลงมากที่สุด ก็จะยังคงเติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้

หากมองย้อนกลับมาที่เมืองไทย ต้องยอมรับว่ามีทั้งจุดที่น่ากังวลโดยเฉพาะกลุ่มใช้แรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้น ๆ และน่าจะเป็นความชัดเจนจากส่วนเล็ก ๆ มาก่อน เพราะการลงทุนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่นั้นน่าจะทำได้ช้ากว่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่เกิดขึ้น แถมจะเกิดไวกว่าที่เราเคยคิดด้วย ที่สำคัญในงานภาคเกษตรที่เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจก็หาแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาได้ยากนั้น จะถูกเทคโนโลยีเข้าไปทดแทนมากขึ้นเพื่อเพิ่มการแข็งขัน หรือจะดึงแรงงานจากภาคอื่น ๆ กลับมาทำเพื่อชดเชยยอดการตกงานมวลรวมได้ ก็น่าสนใจเช่นกัน

ความเห็นผู้เขียน – ปี 2020 อาจเป็นแค่การมองเห็นปัญหา แต่ปี 2021 จะเป็นปีที่ทุกธุรกิจเดินก้าวแรกแบบเต็มตัวในการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ สังเกตกันง่าย ๆ ว่าหาก เซเว่นฯ ใกล้บ้านท่าน ไม่เพียงเอาเครื่องจักรมาทำงานแทนงานส่วนเกินอย่างช่วงที่ผ่านมา ที่ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแทนพนักงานมากดวัดไข้ แต่เริ่มเอามาทดแทนพนักงานหลักมากขึ้น นั่นล่ะน่าความเป็นห่วง เพราะมาคิดดี ๆ ตั้งแต่รณรงค์ให้คนใช้ถุงผ้ามาซื้อของ พนักงานเคาน์เตอร์ก็แทบจะมีแค่หน้าที่คิดเงินทอนเงิน ซึ่งไม่ยากเลยที่เครื่องจักรจะทำงานแทนได้ และแนวโน้มคนจะเริ่มชินกับการจ่ายเงินผ่านมือถือจากโครงการคนละครึ่ง ก็แทบไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดที่ต้องมีการทอนแล้วด้วยซ้ำ คอยดูกันไปครับ

ที่มา

ภัยทางอินเทอร์เน็ตที่อันตรายมากขึ้น

เนื่องจากการปรับตัวมาทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home มากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งก็ตามที่เราพอเห็นแนวโน้มว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้น่าจะยังอยู่กับเราไปอีกระยะใหญ่อย่างน้อยในปี 2021 ก็ยังน่าจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อวัคซีนชุดแรก ๆ เริ่มมีการใช้งาน

การพึ่งพาการใช้งานออนไลน์มีจำนวนมากขึ้นทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นำมาซึ่งโอกาสของกลุ่มมิจฉาชีพไซเบอร์ไปในตัว จากที่เราจะเห็นว่าข่าวการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ หรือแรนซัมแวร์ที่เรียกค่าไถ่ข้อมูลนั้นปรากฏให้เห็นมากขึ้น และรุนแรงขึ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างโดนเป็นทิวแถว

อย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อนมีเคสใหญ่มากของโลก อย่างบริษัท SolarWinds บริษัทด้านซอฟต์แวร์ช่วยระบบการทำงานที่มีลูกค้าเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง รวมถึงหน่วยงานรัฐใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ เช่น ความมั่นคง กลาโหม พาณิชย์ การคลัง และสาธารณสุข เป็นอย่างน้อย ก็ถูกแฮกเกอร์รัสเซียกลุ่ม Cozy Bear เล่นงานจนอาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของวงการความปลอดภัยออนไลน์ก็ว่าได้

โดยที่เราแทบไม่รู้ว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมาแฮกเกอร์เข้าถึงระบบการจัดเก็บคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐได้แล้วด้วยซ้ำ (หูย)

ใครสนใจไปดูไทม์ไลน์และเหยื่อในกรณีนี้ได้ ที่นี่ บอกเลยว่าสะพรึง เพราะแฮกเกอร์เข้ามาฝังมัลแวร์ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน แต่เพิ่งมีการตรวจพบและบุกรุกหนัก ๆ ในเดือนธันวาคมนี้เอง แรงขนาดที่รัฐบาลสหรัฐและเอฟบีไอต้องลงมาตรวจสอบเลยทีเดียว

ในเรื่องความน่ากลัวทางไซเบอร์ในปี 2021 นี้ เว็บไซต์ pandasecurity ก็ได้ตอบในหัวข้อ สิ่งที่เราคาดหวังจะเจอ ในวงการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ว่า กลุ่มเสี่ยงที่เป้าหมายหลักการเรียกค่าไถ่ของแรนซัมแวร์ในปี 2021 คือกลุ่ม สถาบันการเงินและหน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพ สอดคล้องกับปีที่ผ่านมาที่ในไทยเองโรงพยาบาลรัฐก็โดนไปแล้ว จากกรณีโรงพยาบาลสระบุรีเมื่อช่วงกันยายนที่ผ่านมา

การฟิชชิ่ง หลอกเอาข้อมูลผ่านอีเมลหรือเว็บไซต์ปลอม จะลดการส่งแบบหว่านให้แคบลงแต่มีความซับซ้อนจับกลได้ยากมากขึ้น เพราะมันยังเป็นอาชญากรรมที่ได้ผลเป็นเงินสดทันใจ โดยไม่ต้องลงแรงมาก เพียงมีคนตกหลุมพรางแค่คนหรือสองคนที่กรอกข้อมูลพาสเวิร์ดบัตรเครดิตนั่นก็เพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ทางเว็บยังให้ข้อสังเกตว่า รถยนต์ที่เป็นระบบสมาร์ตคาร์ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น และอาจจะไม่แปลกถ้ารถเหล่านี้จะมีข่าวโดนล็อกประตูหรือระบบการทำงานเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเรื่องปกติในเร็ววันนี้

ความนิยมการใช้งานรีโมตจากระยะไกลเพื่อทำงานจากบ้าน ก็ทำให้ระบบยืนยันตัวตนหลายชั้นอย่าง Multi-Factor Authentication (MFA) และระบบ Remote Desktop Protocol (RDP) จะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นเพื่อลดช่องโหว่ในการเจาะระบบ ซึ่งตรงนี้ก็อาจต้องให้พนักงานเรียนรู้ด้วย

เช่นเดียวกันความนิยมในการใช้งานบนระบบคลาวด์ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ระบบคลาวด์เป็นประตูเงินประตูทองที่แฮกเกอร์หวังโจมตี แม้โดยส่วนใหญ่คลาวด์จะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่เมื่อมันมีความคุ้มค่าในการเจาะมากขึ้น เหล่าแฮกเกอร์จะพยายามหาหนทางมากขึ้นด้วยนั่นเอง โดยเฉพาะการโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ (Zero-Day Attack) ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคลาวด์ลูกผสม (Hybrid Cloud) ที่ใช้วงเครือข่ายทั้งแบบส่วนตัวและสาธารณะด้วย

นอกจากนี้ในยุค 5G ไม่เพียงเราที่ได้ใช้งานข้อมูลความเร็วสูงระดับ 10G/s เท่านั้น ในอีกทางพวกแฮกเกอร์เองก็สามารถทำงานเจาะระบบได้ด้วยความเร็วที่มากขึ้นเช่นกัน แต่ความน่ากลัวจริง ๆ ของยุค 5G ก็ยังมีเรื่องของการเปิดประตูสู่ยุค IoT ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมโยงสื่อสารกันเป็นเครือข่าย ซึ่งเพิ่มช่องทางในการเจาะระบบให้พวกแฮกเกอร์ผ่านอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งมากขึ้นด้วย ในลักษณะเดียวกันเมื่อโลกพึ่งพาความสามารถของเอไอในการทำงานมากขึ้น พวกแฮกเกอร์ก็สร้างเอไอทำงานแทนตัวเองได้ไวขึ้นและแมนยำขึ้นด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งความเสี่ยงของภาคธุรกิจที่อาจหลงลืมไม่ระมัดระวังคือ การจงใจทำให้บริษัทเสียหายจากตัวพนักงานเอง โดยอย่างยิ่งการลดกำลังคน การเลย์ออฟ และความบีบคั้นในการทำงานภายใต้เศรษฐกิจที่ชะงักตัวไปจากโรคระบาด ก็อาจทำให้พนักงานที่เข้าถึงระบบออนไลน์ของบริษัทสร้างปัญหาเพื่อแสดงความไม่พอใจได้ (หรืออาจกระทำไปด้วยความเลินเล่อ ไม่มีความรู้ของพนักงานเอง ก็เป็นปัญหาเช่นกัน) การจำกัดสิทธิ์ มอบสิทธิ์ และตัดสิทธิ์การเข้าถึงระบบสำคัญ ๆ ของบริษัทจึงมีความจำเป็นด้วย กรณีที่โด่งดังของเรื่องนี้คือ พนักงานของบริษัททวิตเตอร์ทำการลบบัญชีผู้ใช้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงชั่วคราวในปี 2017 หลังจากโดนให้ออกจากงานนั่นเอง

ความเห็นผู้เขียน – สรุปย่นย่อได้ว่า ในปี 2021 เมื่อโลกกายภาพเริ่มอิงกับโลกออนไลน์มากขึ้นด้วยการเร่งรัดจากโรคระบาด มันก็กลายเป็นยุคทองคำของพวกอาชญากรเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ข่าวเรื่อง บริษัทธุรกิจ เพจคนดัง ยิ่งแพลตฟอร์มที่ให้คนเป็นแอดมินได้หลายคนยิ่งต้องระมัดระวังความสะเพร่าของพนักงานให้ดี – กรณีจากเพจไอทีที่ถูกแฮกเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ หรือข่าวว่าคนทั่วไปถูกโจมตีทางไซเบอร์จะได้เห็นกันบ่อยขึ้น มีสติในการกดลิงก์ เปิดโปรแกรม หรือกรอกข้อมูลต่าง ๆ และเตรียมตัวบริหารความเสี่ยงด้านข้อมูล เปิดระบบป้องกันหลาย ๆ ชั้นตั้งรับไว้ให้ดี

ที่มา

ชีวิตส่วนตัวที่น้อยลง กับรูปแบบการทำงานแบบล้ำยุคกลายเป็นกิจวัตรใหม่

เว็บไซต์ forbes ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานจากที่บ้านอาจทำให้ใครบางคนได้สมดุลการใช้ชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ลดเวลาจากการเดินทางในแต่ละวัน แต่มันก็ไม่เสมอไปเมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยลดช่องว่างการทำงานลง แล้วกลายเป็นว่าเราอาจถูกเรียกทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงแทน และการเริ่มงาน-เลิกงานก็จะมีเส้นแบ่งที่จางลง คือไม่มีเขตที่ชัดเจนว่านี่คือเวลาทำงาน นี่คือเวลาส่วนตัว ซึ่งเหล่านี้ก็อยู่ที่ผู้บริหารและนโยบายของแต่ละองค์กรด้วยเช่นกัน ถ้าให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาปรากฏการณ์ Toxic productivity ที่พนักงานทุกข์ทรมานจากการต้องทำงานมากกว่าเดิมเพื่อรักษาคุณภาพผลลัพธ์ ทั้งที่ปัจจัยสนับสนุนการทำงานลดลง

ในปี 2020 ที่ผ่านมาสถาบันด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง The Chartered Institute of Personnel and Development (CIPD) ได้ออกรายงานประจำปีจากการสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 89 เห็นว่ามีเพื่อนร่วมงานป่วยขณะยังต้องทำงานที่บ้าน และร้อยละ 73 พบว่ายังต้องทำงานแม้จะลาพักผ่อนประจำปีหรืออยู่นอกเวลางานก็ตาม ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราอาจต้องหาจุดลงตัวใหม่ในปี 2021 นี้

โดยข้อถกเถียงหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นแนวโน้มของบริษัทยุคใหม่คือ การเลิกวัดความสำเร็จของพนักงานด้วยความสามารถในการผลิต หรือปริมาณผลลัพธ์ที่ทำได้ แล้วหันมาวัดความสำเร็จของบุคคลด้วยการพัฒนาสมรรถนะทั้งด้านความรู้ ทักษะ และบุคลิกลักษณะที่จำเป็นในการทำงานแทน โดยคอนเซ็ปต์ที่พิสูจน์แล้วว่าบุคลากรที่มีความสุขและให้ใจกับบริษัทจะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีกว่า และในปัจจุบันเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ก็สามารถทำงานรูทีนได้ดีกว่ามนุษย์แล้วด้วย งานส่วนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ของมนุษย์ ก็จะกลับมามีความสำคัญให้ส่งเสริมมากขึ้นด้วย

และถึงแม้โชคดีสถานการณ์กลับไปปกติได้ไว แต่แนวโน้มที่เราจะได้ทำงานผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังน่าจะเป็นกิจวัตรใหม่ไปอย่างแน่นอน เพราะบริษัทองค์กรต่าง ๆ เริ่มมองเห็นข้อดี แถมคนส่วนใหญ่ก็ปรับตัวได้อย่างดีแล้วที่จะประยุกต์ใช้ในการทำงาน

เริ่มตั้งแต่การประชุมผ่านวิดีโอ อย่างโปรแกรม Zoom หรืออื่น ๆ กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่พนักงานออฟฟิศสามารถใช้อย่างคล่องมือ ยืนยันด้วยสถิติในเดือนเมษายนที่ผ่านมีคนใช้งาน Zoom ถึง 300 ล้านคนต่อวัน และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เรียลไทม์วิดีโอก็จะพัฒนาขึ้นจนมันแทบไม่มีความตะกุกตะกักอีกต่อไป

ยกตัวอย่างงานวิจัยเอไอของ Nvidia ที่ช่วยให้ภาพการพูดคุยดูราบรื่นแม้สัญญาณเน็ตจะน้อยก็ตาม โดยการให้เอไอช่วยจำลองสร้างสีหน้าและรูปปากของผู้ส่งแทนที่จะต้องส่งข้อมูลทุกพิกเซลวิดีโอไป ก็ส่งไปแค่ภาพผู้พูดบางเฟรม กับข้อมูลจับการเคลื่อนไหวใบหน้า ให้เอไอประมวลเป็นภาพวิดีโอคนพูดแบบลื่น ๆ แทน ใครงงดูวิดีโออธิบาย ที่นี่ ต่อไปการประชุมออนไลน์จะสมูธมากแบบใช้แบนด์วิดท์น้อยลงเยอะทีเดียว

ถ้าแค่นั้นยังล้ำน้อยไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี VR และ AR ที่ต้นทุนเริ่มถูกลงจนคนทั่วไปเริ่มจับต้องได้ ก็ผลักให้เราอาจได้ทำงานบนออฟฟิศเสมือนพร้อมเพื่อนร่วมงานจากที่ใดก็ได้แทน ตามความเห็นของ ศาสตราจารย์แอนนา เควียรอซ จากมหาวิทยาลัยแสตนด์ฟอร์ดมองว่ามันช่วยแก้ปัญหาความเครียดจากการทำงานที่ขาดปฏิสัมพันธ์กันจากมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพด้วย เพราะอย่างไรมนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์สังคมอยู่ดี

vr

การประชุมเสมือนจริงตรงนี้ Oculus Rift โดยเฉพาะเครื่องรุ่น Oculus Quest 2 และแพลตฟอร์มออฟฟิศเสมือนจริงอย่าง Infinite Office ของบริษัท Facebook เองก็ถือว่าก้าวหน้าไปมาก ยิ่งมีการจับมือกับทาง Spacial ผู้นำด้าน AR ก็ทำให้การพรีเซนต์งานหรือประชุมดูใกล้เคียงของจริง แถมบางมุมดูดีกว่าการประชุมจริงที่น่าเบื่ออีกด้วย ดูตัวอย่าง ที่นี่ ซึ่งโหมดการทำงานเสมือนที่ว่านี่ยังมีแผนจะปล่อยใช้กับผู้ใช้งานทั่วไปที่ยังไม่ใช่ภาคธุรกิจ ในช่วงต้นปีนี้แล้วด้วย

ที่มา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส