ปลายปีที่ผ่านมา เราอาจตะลึงไปแล้วรอบหนึ่งกับประกาศของรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่บอกว่าจะพายานสำรวจไทยไปดวงจันทร์ใน 7 ปี ล่าสุด มีข่าวชวนตะลึงในแวดวงอวกาศเช่นกัน เมื่อบริษัทของญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเกียวโตได้ให้ข่าวว่า จะร่วมมือกันพัฒนา ‘ดาวเทียมไม้’ ดวงแรกของโลกภายในปี 2023 (โอโห้ ไม่ถึง 7 ปีเลย จะทำได้จริงหรือ??)

บริษัท Sumitomo Forestry บริษัทผู้เชี่ยวชาญงานด้านไม้ ในเครือ Sumitomo Group กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอายุ 400 กว่าปี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ขณะนี้บริษัทได้เริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตของต้นไม้และการใช้วัสดุไม้ในอวกาศแล้ว โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาไม้ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแสงแดด ขณะเดียวกัน หน่วยงานในความร่วมมือนี้ก็กำลังเริ่มทดสอบไม้ประเภทต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่รุนแรงดูว่าจะได้ผลอย่างไรบ้าง ซึ่งไม้ที่ใช้ทดสอบนี้ ยังคงเป็น ‘ความลับด้านการวิจัยและพัฒนา’ ไม่ขอเปิดเผย

สำหรับสาเหตุของการคิดค้นพัฒนาดาวเทียมทำจากไม้ เกิดมาจากแนวคิดที่ต้องการลดขยะอวกาศลง เนื่องจากทุก ๆ ปี มีการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นก็นำมาสู่ปัญหาขยะอวกาศที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ปัญหาจากขยะอวกาศ

ปัจจุบัน ดาวเทียมถูกนำมาใช้เพื่อการสื่อสารทางไกล การนำทาง และการพยากรณ์อากาศและสภาพแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) มีวัตถุเกือบ 6,000 ชิ้นที่โคจรรอบโลก และประมาณ 60% ของวัตถุพวกนั้น ก็ไม่ได้ใช้งานเป็นดาวเทียมแล้ว แต่เป็นเศษซากที่ลอยเคว้งคว้างไปมา เป็นขยะอวกาศไปแล้ว ในขณะที่นาซา ประมาณการณ์ไว้เมื่อทศวรรษที่แล้วว่า 95% ของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นในวงโคจร อาทิ ดาวเทียม จรวดที่ใช้งานแล้ว และชิ้นส่วนจากภารกิจต่าง ๆ บัดนี้ ได้กลายเป็นขยะอวกาศแล้ว

สำหรับอนาคต บริษัทวิจัย Euroconsult คาดการณ์ว่าจะมีการปล่อยดาวเทียมเฉลี่ย 990 ดวงทุกปี ในทศวรรษนี้ ซึ่งหมายความว่าภายในปี 2028 (พ.ศ. 2571) อาจมีดาวเทียมถึง 15,000 ดวงในวงโคจร

ส่วนใหญ่ขยะอวกาศเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก European Space Agency ระบุว่า เศษชิ้นส่วนในวงโคจร 128 ล้านชิ้น มีเพียง 34,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร แต่เมื่อวัตถุขนาดใหญ่ชนกันจะทำให้เกิดวัตถุขนาดเล็กจำนวนมาก และพวกมันสามารถเดินทางได้มากกว่า 20,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุอื่น ๆ ในวงโคจรได้

ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า ขยะในวงโคจรที่มากเกินไป อาจไปลดขนาดของเส้นทางการบิน ทำให้การเดินทางไปอวกาศหรือการปล่อยดาวเทียมในอนาคตลำบากมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย

คำตอบอยู่ที่วัสดุที่ทำ

ทาคาโอะ โดอิ (Takao Doi) ผู้ที่เป็นทั้งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตและนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นกล่าวว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่า ดาวเทียมทุกดวงที่พุ่งกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก จะผ่านการกระบวนการเผาไหม้ สร้างอนุภาคอลูมินา (Alumina particles) ขนาดเล็ก ซึ่งจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศด้านบนเป็นเวลาหลายปี สร้างความกังวลให้เรามาโดยตลอด…และในที่สุด สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลก” 

ดาวเทียมที่ทำจากไม้ จึงเหมือนจะเป็นคำตอบของปัญหาที่ว่า เมื่อมันจะลุกเป็นไฟโดยไม่ปล่อยสารที่เป็นอันตราย ขณะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกนั่นเอง

ก็ต้องรอดู ตามลุ้นกันต่อไปว่า ดาวเทียมที่ทำจากไม้จะสำเร็จหรือไม่ ถ้าหากเป็นไปได้จริง ไม่ใช่แค่ดาวเทียม แต่ไม้ชนิดนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง และน่าจะเป็นวัสดุชั้นเยี่ยมในการสร้างตึกและบ้านเรือนต่อไป คาดว่า น่าจะพลิกความเป็นอยู่ของพวกเราในอนาคต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน

อ้างอิง

Foxnews.com

BBC.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส