ปัญหาใหญ่สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์คือ ‘ฝน’ เมื่อไม่มีแดด สภาพอากาศไม่เป็นใจ การผลิตไฟฟ้าจึงเป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้นักวิจัยจีนมีวิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดในวันฝนตกแล้ว
โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ถูกออกแบบมาเพื่อแปลงพลังงานแสง เป็นพลังงานไฟฟ้า มันแทบจะไร้ประโยชน์ในวันที่มีเมฆ หรือฝนตก โซลาร์เซลล์จะมีแบตเตอรี่ เอาไว้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในวันที่ไม่มีแดด แต่เทคโนโลยีนี้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และมีราคาที่แพงมากเกินไปที่จะลงทุนใช้โซลาร์เซลล์ในพื้นที่ที่ีแสงอาทิตย์ไม่มากนัก
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Soochow ประเทศจีน ได้เสนอทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากเม็ดฝนได้
วารสาร ACS Nano ตีพิมพ์รายละเอียดงานวิจัยนี้ไว้ว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ด้วยเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Triboelectric nanogenerator (TENG) ซึ่งสามารถดักจับพลังงานกลจากเม็ดฝนที่ตกกระทบแผงวงจรเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า นักวิจัยจึงเอา TENG และโซลาร์เซลล์รวมกัน พัฒนาเป็นแผงโซลาร์เซลล์แบบไฮบริด
ไม่เพียงเท่านั้นนักวิทยาศาสตร์ยังทำการทดลองกับวัสดุหลากหลายชนิด เพื่อให้อุปกรณ์มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกพอที่จะสามารถติดตั้งบนหลังคาเพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าในสภาพอากาศที่หลากหลายขึ้น
หากนักวิจัยสามารถลดต้นทุนการผลิตเทคโนโลยีดังกล่าวได้จริง เทคโนโลยีนี้อาจปฏิวัติวิธีการใช้แผงโซลาร์เซลล์ได้ มันจะทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีประสิทธิภาพแม้ในพื้นที่ที่มีแสงแดดน้อยซึ่งปัจจุบันยังไม่ถือว่าเหมาะสำหรับการสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้
ถึงแม้ว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกจำกัดการใช้งานด้วยสภาพอากาศ แต่ก็ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และตอนนี้ราคาสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลดลงกว่าครึ่งตั้งแต่ปี 2555 ตามข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์
อ้างอิง Businessinsider
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส