สำนักข่าวซินหัว เมืองเจิ้งโจว รายงานเมื่อวันที่ 14 มกราคม 64 ว่า จีนค้นพบซากพระราชวังโบราณเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้ช่วงเวลาเริ่มต้นการก่อสร้างพระราชวังของจีน เก่าแก่กว่าเดิมที่เคยรู้ไปอีกราว 1,000 ปี

หวังเว่ย ประธานสมาคมโบราณคดีของจีนกล่าวว่า ซากพระราชวังโบราณแห่งนี้ถูกค้นพบพื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ เมืองหลวงของอาณาจักรโบราณเหอลั่ว ที่มีอายุเก่าแก่ถึงราว 5,300 ปี ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของแม่น้ำเหลืองในตำบลเหอลั่ว เมืองก่งอี้ มณฑลเหอหนาน และเชื่อกันว่าเป็นอีกหนึ่งต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน 

สำหรับพระราชวังโบราณเก่าแก่ที่สุดที่นักโบราณคดีขุดพบก่อนหน้านี้ อยู่ที่แหล่งโบราณวัตถุเอ้อร์หลี่โถว อดีตเมืองหลวงของจีนในช่วงกลางและปลายราชวงศ์เซี่ย (ราว 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ราชหรือเมื่อ 4,000 กว่าปีที่แล้ว) ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้ในตอนนี้นับเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ดังนั้น การค้นพบครั้งล่าสุดนี้อาจพลิกประวัติศาสตร์การก่อตั้งระบบพระราชวังจีนที่เคยรู้กัน

ซากพระราชวังโบราณที่เพิ่งถูกค้นพบนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 4,300 ตารางเมตร สร้างขึ้นบนฐานดินอัดยกพื้นสูง อันเป็นฐานรากของโครงสร้างอาคารการขุดค้นทางโบราณคดีเผยให้เห็นแผนผังที่ชัดเจนของพื้นที่ที่เป็นรากฐานของอาคาร 2 แห่ง ได้แก่ ลานหมายเลข 1 และลานหมายเลข 2 

พื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ แหล่งอารยธรรมโบราณของจีน
Credit: Xinhuathai

ลานหมายเลข 1 ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ 1,300 กว่าตารางเมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของฐานดินยกพื้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกเป็นลานหมายเลข 2 มีพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร และมีประตูเข้าออกที่ใหญ่โตโอ่อ่า 3 ประตู นอกจากนี้ บริเวณด้านนอกกำแพงทิศใต้ ยังขุดพบจัตุรัสขนาดใหญ่เกือบ 880 ตารางเมตร อันเป็นลักษณะการวางผังก่อสร้างของพระราชวังโบราณทั่วไป ที่จัดให้พื้นที่ว่าราชการของพระจักรพรรดิอยู่ด้านหน้า และที่พำนักอยู่ด้านหลัง

ประตูเข้าออกของพระราชวังโบราณ ที่ค้นพบในพื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ ตำบลเหอลั่ว เมืองก่งอี้ มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน
Credit: Xinhuathai

กู้ว่านฟา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเทศบาลนครเจิ้งโจว กล่าวว่า “การจัดให้มีพื้นที่ลานขนาดใหญ่ และการจัดวางพื้นที่บริหารงานราชการไว้ด้านหน้าที่พำนักของราชวงศ์ในลักษณะนี้ เป็นการวางรากฐานขนบธรรมเนียมให้แก่ระบบพระราชวังในจีน” ซึ่งสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อการวางผังเมืองหลวงในยุคสมัยต่อ ๆ มา

ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่จะทำให้เราเข้าใจอารยธรรมจีนได้ลึกซึ้งกว่าเดิมก็ได้

อ้างอิง

Xinhuathai.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส