จีนเปิดตัวต้นแบบหัวจักรรถไฟโดยสารหัวกระสุนความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 620 กิโลเมตร / ชั่วโมง (หากใครนึกไม่ออกว่ารถไฟรุ่นนี้วิ่งเร็วแค่ไหน ให้นึกถึงเวลาที่เราขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ โดยปกติจะใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง แต่รถไฟรุ่นนี้สามารถทำให้เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงนิด ๆ เท่านั้น) ด้วยการใช้เทคโนโลยีแม็กเลฟตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง หรือ เอชทีเอส (high-temperature superconducting : HTS) ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ารถไฟลอยไปตามรางแม่เหล็กไฟฟ้า

หัวรถจักรของรถไฟต้นแบบนี้มีความยาว 21 เมตร ได้รับการเผยโฉมต่อสื่อมวลชนในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2021 นอกจากนี้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง หนึ่งในผู้ออกแบบหัวรถจักรรุ่นดังกล่าวยังได้สร้างรางรถไฟ 165 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการทดสอบและแสดงให้เห็นว่ารถไฟจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร


ศาสตราจารย์เหอชวน (รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “รถไฟจะสามารถให้บริการได้ ภายใน 3-10 ปี” และเขายังกล่าวเสริมอีกว่า “เสฉวนมีทรัพยากรแร่ที่มีธาตุโลหะหายากมากมายซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างรางแม่เหล็กถาวรของเราจึงส่งเสริมการทดลองให้พัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น”
ในอดีตรถไฟแม็กเลฟ เอชทีเอส หรือทฤษฎีตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็คิดว่า
ไม่มีทางสามารถเกิดขึ้นได้จริง มันเป็นเพียงของเล่นในห้องทดลองจึงไม่มีใครลองทดสอบในสถานการณ์จริง แต่ตอนนี้มันสามารถทดสอบในสถานการณ์จริงได้แล้ว ทำให้รถไฟแม็กเลฟรุ่นนี้เข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นไปอีกก้าว
ขณะเดียวกัน คณะผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีแม็กเลฟรูปแบบอื่น เทคโนโลยีเอชทีเอสจะมีความเหมาะสมมากกว่า สำหรับคอนเซปต์การขนส่งความเร็วสูงเป็นพิเศษในอนาคต โดยผ่านท่อสุญญากาศ ซึ่งรถไฟจะสามารถวิ่งด้วยความเร็วกว่า 1,000 กิโลเมตร / ชั่วโมง และทีมงานวิศวกรก็หวังจะพัฒนาให้รถไฟรุ่นนี้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 800 กิโลเมตร / ชั่วโมงอีกด้วย”
สำหรับโครงการดังกล่าว ใช้เงินลงทุน 60 ล้านหยวน หรือประมาณ 278 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง การรถไฟแห่งประเทศจีน และบริษัท ซีอาร์อาร์ซี คอร์เปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CRRC Corporation Limited)
จีนถือเป็นผู้นำในการสร้างและให้บริการรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความยาวกว่า 37,000 กิโลเมตร มีรถไฟที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ที่เร็วที่สุด นั่นคือ Shanghai Maglev รถไฟแม็กเลฟความเร็วสูงขบวนแรกของประเทศ เริ่มให้บริการในปี 2546 วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 431 กิโลเมตร / ชั่วโมง อีกทั้งสถานีรถไฟยังเชื่อมกับสนามบินเซี่ยงไฮ้ผู่ตงและถนนหลงหยางทางฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไฮ้
จีนมีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในปี 2022 โดยเมื่อปีที่แล้วจีนได้เปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ ‘สายเหยียนชิ่ง’ ระยะทาง 174 กิโลเมตร เส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองจางเจียโข่ว เมืองเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 โดยลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2-3 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 47 นาที
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จีนยังได้เปิดตัวรถไฟหัวกระสุน ‘ฟู่ซิง’ ที่ออกแบบมาเพื่อทนต่ออุณหภูมิเยือกแข็งโดยเฉพาะ รถไฟความเร็วสูงรุ่น CR400AF-G ที่มาพร้อมกับความเร็ว 350 กิโลเมตร / ชั่วโมง ในสภาพอากาศที่หนาวถึง -40 องศาเซลเซียส โดยจะวิ่งในเส้นทางระหว่างปักกิ่ง เสิ่นหยางและฮาร์บิน


อ้างอิง CNN , xinhuathai
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส