หลังจากลงจอดที่ผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัยไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2012 บัดนี้ ยานสำรวจพื้นผิวคิวริออซิตี้ (Curiosity) ได้ลัดเลาะท่องไปในดาวอังคารเกินกว่า 3,000 วัน (บนดาวอังคาร) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมยังส่งภาพที่น่าสนใจกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาอีกด้วย
ตั้งแต่เดินทางถึงดาวอังคาร คิวริออซิตี้ก็เริ่มภารกิจสำรวจ และได้พบสิ่งใหม่ ๆ มากมาย โดยตั้งแต่ในปี 2014 รถสำรวจได้ไต่ขึ้นไปบน ‘Mount Sharp’ ยอดเขาที่มีความสูง 3 ไมล์ (ประมาณ 5 กิโลเมตร) มาเรื่อย ๆ โดยระหว่างนั้นก็ได้บันทึกภาพ ส่งข้อมูลส่งกลับมายังโลกเป็นระยะ ทำให้นักธรณีวิทยารู้สึกทึ่งเมื่อได้เห็นภาพหินทั้งหลายบนพื้นผิวดาว ที่มีหน้าตาเหมือน ‘ม้านั่ง’ รายเรียงอยู่ในภาพกว้างแบบพาโนรามาราวกับจะต้อนรับแขกต่างถิ่นที่มาเยือน
ภาพพาโนรามานี้เกิดจากการประกอบภาพที่ได้จากกล้อง Mastcam (Mast Camera) ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ดวงตา’ หลักของรถแลนด์โรเวอร์ เป็นจำนวนถึง 122 ภาพ ตรงกลางของภาพพาโนรามาคือพื้นเบื้องล่างของหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ซึ่งเป็นแอ่งกว้าง 96 ไมล์ (ประมาณ 154 กิโลเมตร) ที่ Mount Sharp ตั้งอยู่ภายใน
เส้นขอบฟ้าในภาพคือ ขอบทางทิศเหนือของอุกกาบาต ส่วนทางด้านขวาคือ ด้านบนของ Mount Sharp ที่ประกอบไปด้วยชั้นหิน ซึ่งเกิดจากทะเลสาบและลำธารเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
ลานหินโค้งที่เต็มไปด้วยม้านั่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีทั้งชั้นหินที่แข็งและอ่อนบนทางลาดชัน เมื่อชั้นที่อ่อนนุ่มกว่าสึกกร่อนลง ชั้นหินที่แข็งกว่าจะยังคงอยู่ ทำให้เกิดก่อตัวเป็นเหมือนหน้าผาเล็ก ๆ ทำให้เกิดรูปร่างที่ละม้ายคล้าย ‘ม้านั่ง’ ขึ้น นอกจากนี้ รูปร่างดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ดินถล่ม (landslide) คือเมื่อแผ่นโค้งขนาดใหญ่ไถลเลื่อนลงจากเนิน ทิ้งให้แผ่นหินที่ยังคงอยู่มีรูปร่างเช่นนี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ทีมงานของ Curiosity ได้เห็นภาพ ‘ม้านั่ง’ ในหลุมอุกกาบาตเกล แต่ความพิเศษของภาพนี้คือ การจัดเรียงม้านั่งนี้ดูสวยงามไล่เรียงเป็นขั้นบันไดมากกว่าภาพอื่น ๆ ที่เคยเห็น
แอชวิน วาซาวาดา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์โครงการคิวริออซิตี้ จากศูนย์ Jet Propulsion Laboratory หนึ่งในผู้สร้างรถสำรวจคิวริออซิตี้และดูแลภารกิจนี้ กล่าวว่า “ทีมของเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้หาคำตอบว่าพวกมันก่อตัวขึ้นอย่างไร และมีความหมายอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมโบราณภายในหลุมอุกกาบาต”
อย่างไรก็ตาม หลังจากบันทึกภาพพาโนรามาได้สำเร็จ กล้องก็ถูกปิดลงเพื่อดำเนินภารกิจต่อไป โดยในปีนี้รถสำรวจถูกกำหนดให้ขับข้ามพื้นที่ดินเหนียวที่เรียกว่า ‘Glen Torridon’ และหลังจากหยุดพักที่พื้นที่ที่มีชื่อเล่นว่า ‘Mary Anning’ แล้ว (ภาพประกอบข่าวด้านบนสุดคือภาพเซลฟี่ของรถสำรวจคิวริออซิตี้กับพื้นที่นี้นี่แหละ) มันก็จะเดินทางต่อไปยังพื้นที่ถัดไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำรวจหลักที่เรียกว่า ‘the sulfate-bearing unit‘
ก็คอยติดตามดูกันว่า ปีนี้รถสำรวจคิวริออซิตี้จะพาเราไปพบเจออะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกหรือไม่ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าทึ่งเกินจินตนาการไปอีกก็ได้
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส