หลังจากเดินทางอยู่ในอวกาศเนิ่นนานในที่สุด ยานสำรวจดาวอังคาร ‘เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)’ ของนาซา ก็จะได้ลงจอดบนดาวเคราะห์สีแดงในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์นี้เสียที
สำหรับเวลาลงจอดดังกล่าว จะเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 15.55 น. ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ตามระบบเวลา EST หรือ ประมาณ 03.55 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ตามเวลาในบ้านเรา โดยนาซาได้เปิดช่องทางหลายหลากให้เราติดตามภารกิจนี้กันอย่างใกล้ชิด
เริ่มด้วยการถ่ายทอดสดพร้อมคำบรรยายจาก Jet Propulsion Laboratory (JPL) ที่จะเริ่มเวลาประมาณ 02:15 น. ประเทศไทย ผ่านช่องทาง NASA TV Public Channel / เว็บไซต์ / NASA App / YouTube / Twitter / Facebook / LinkedIn / Twitch / Daily Motion และ THETA.TV สะดวกช่องทางไหนก็กดติดตามรอชมกันได้เลย
และสำหรับคนที่อยากรับฟังในภาษาสเปน ล่าสุดนาซาก็ยังมีรายการถ่ายทอดในภาษาสเปนเป็นครั้งแรกให้ติดตามกันด้วย โดยรายการนี้จะเริ่มถ่ายทอดเวลาประมาณ 02.30 น. ตามเวลาในบ้านเรา ในชื่อรายการว่า ‘Juntos perseveramos’ กดตามไปชมกันได้
ขณะที่ลงจอด ยานจะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศบาง ๆ ของดาวอังคารด้วยความเร็วมากกว่า 12,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ร่มชูชีพและการร่อนลงจะทำให้ความเร็วช้าลงเหลือประมาณ 2 ไมล์ต่อชั่วโมง (3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และในช่วงนี้เอง จะเป็นช่วงที่เรียกว่า ‘sky crane maneuver’ ซึ่งเป็นขั้นตอนใช้สายเคเบิล 3 เส้นนำรถสำรวจลงจอดอย่างนุ่มนวล ณ บริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากและชวนระทึกเป็นที่สุด
นอกจากการลงจอดที่ยากเย็นชวนลุ้นแล้ว ภารกิจนี้ยังมีความทึ่งชวนติดตามหลายอย่างที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การสำรวจดาวอังคาร เพราะเป็นครั้งแรกของภารกิจอวกาศที่จะนำหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตกลับมาตรวจสอบยังโลก เป็นภารกิจเดินทางไปกลับดาวอังคารแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีเป็นครั้งแรกที่ยานสำรวจติดกล้องไว้รอบตัวถึง 23 กล้อง ทำให้ภาพที่ได้เสมือนเราได้ร่วมท่องดาวอังคารไปพร้อมกับยานสำรวจ นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็นเทคโนโลยีการบินในต่างดาวของ เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity Mars Helicopter) ซึ่งจะทดลองบินและขับเคลื่อนเป็นครั้งแรกบนดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ ความน่าว้าว ของรถสำรวจ Perseverance และ Ingenuity คอปเตอร์สำรวจดาวอังคารของนาซา ได้ที่นี่)
และสำหรับคนที่อยากมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับคนที่สนใจอวกาศเช่นเดียวกัน สามารถสมัครเข้าลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Perseverance Rover Virtual NASA Social event และรับชม virtual guest experience ได้ โดยหลังชมเสร็จนาซาจะส่งข้อมูลอัปเดตของภารกิจและปั๊มตราพาสปอร์ตของภารกิจให้ด้วยนะ
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางในโลกโซเซียลให้ติดตามภารกิจอีกหลากหลาย โดยใช้ #CountdownToMars และแท็กแอ็กเคานต์ดังนี้:
- Twitter: @NASA, @NASAPersevere, @NASAMars
- Facebook: NASA, NASAPersevere
- Instagram: NASA
ใครที่สนใจก็อย่าติดไปกดติดตาม ปักหมุดตั้งเวลารับชมกันได้ สำหรับครูและนักเรียนสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์อ้างอิงด้านล่างนี้ได้เลย
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส