สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับศึกษาต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญกำลังทำรายงานสรุป และคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ กาตาร์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเวียดนามได้เดินทางไปยังนครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน บริเวณที่ตรวจพบเคสผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายแรก และใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 4 สัปดาห์ ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดกำเนิดของโรคระบาด และได้เดินทางออกจากประเทศจีนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

การเดินทางครั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย บ้างก็มองว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับการเมืองของจีน และจีนจะให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและให้เสรีภาพในการตรวจสอบจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญมีท่าทีพอใจต่อการไปเยือนในครั้งนี้ และคาดว่าจะสามารถเผยแพร่รายงานขั้นสุดท้ายฉบับเต็มได้ในอีกไม่ช้า

“การดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เรากำลังรอคอยที่จะได้รับรายงานทั้ง 2 ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป” ทีโดรสกล่าว

“จากการพูดคุยกับสมาชิกบางส่วนในทีมดังกล่าว ผมขอยืนยันว่า เรายังมีสมมติฐานที่ยังคงเปิดกว้าง ต้องวิเคราะห์และการศึกษาเพิ่มเติม … ภารกิจนี้อาจไม่สามารถตอบทุกคำถาม แต่ช่วยให้เราได้ข้อมูลสำคัญที่พาเราเข้าใกล้ต้นตอของเชื้อไวรัสได้มากขึ้น” ทีโดรสกล่าว 

ทีโดรสกล่าวทิ้งท้ายว่า ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะแรกให้มากขึ้น ทั้งยังช่วยระบุบริเวณที่จะวิเคราะห์และวิจัยเพิ่มเติม โดยองค์การอนามัยโลกจะดำเนินงาน เพื่อหาข้อมูลที่จำเป็น สร้างความกระจ่างชัดให้แก่สาธารณชนต่อไป

สมมติฐานปัจจุบัน สู่ความเข้าใจต้นกำเนิดของเรื่องนี้ 

  • พาหะนำเชื้อโรคที่เป็นไปได้มากที่สุดคือค้างคาว แต่ตามความเห็นทั้งของคณะผู้เชี่ยวชาญ WHO และของคณะฝ่ายจีนที่มาร่วมทำงานด้วย ยังคงสงสัยว่าสัตว์ชนิดที่สองที่รับเชื้อมาก่อนเผยแพร่สู่มนุษย์คือสัตว์ชนิดใด และแพร่เชื้อกันที่ใดกันแน่
  • ตลาดอาหารทะเลหัวหนาน (Huanan Seafood Market) คือบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มเมื่อตอนเริ่มต้นการระบาด แต่บรรดานักวิจัยยังคงฉงนว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ติดเชื้อขึ้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หลายคนคาดว่าอาจเกิดจากสัตว์อย่างกระต่าย ตัวตุ่น และ หมาหริ่ง ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าสามารถติดเชื้อนี้ได้ง่าย อาจจะมาจากฟาร์มของผู้เลี้ยงที่อยู่ในเขตอันเป็นถิ่นที่อยู่ของค้างคาว หรืออาจจะมาจากบุคคลที่ติดเชื้ออยู่แล้วก็ได้ ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุเจาะจงได้ว่าตลาดแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้น
  • ห้องแล็บไวรัสวิทยาที่อู่ฮั่น ไม่ใช่ต้นกำเนิดไวรัส ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศและพวกผู้เชี่ยวชาญของจีน รวมถึง ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเรค (Peter Ben Embarek) หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ต่างสรุปว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ไวรัสนี้รั่วไหลออกมาจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากสุด ๆ และไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ ชี้เลยว่ามีไวรัสนี้อยู่ในห้องแล็บแห่งนี้ หรือในห้องแล็บแห่งใด ๆ ไม่ว่าที่ไหนในโลก 
  • มีอีกความเป็นไปได้ประการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาระหว่างการมาเยือนนี้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนชัดเจน นั่นคือ ไวรัสนี้อาจจะแพร่กระจายสู่มนุษย์โดยผ่านพวกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง โดยฝ่ายจีนได้ตรวจสอบพบไวรัสนี้บนหีบห่อบรรจุอาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำเสนอว่า ไวรัสนี้อาจเข้ามาที่จีนจากต่างแดนก็ได้ อย่างไรก็ตาม แมเรียน คูปแมนส์ (Marion Koopmans) สมาชิกคนหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญของ WHO ชี้ว่า ถึงเรื่องนี้เป็นความจริง มันก็ไม่สามารถตอบคำถามว่าไวรัสนี้กำเนิดจากที่ใดอยู่ดี 

(อ่านต่อหน้า 2 เรื่องต้นตอที่ย้อนไปไกลกว่าที่คาด)

การแพร่กระจายอย่างลับ ๆ ต้นตอที่ย้อนกลับไปไกลกว่าที่คาด

ล่าสุด (อัปเดตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564) ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเรค หัวหน้าทีมสืบสวนต้นกำเนิดโรคโควิด-19 ในจีน และผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านอาหารและไวรัสขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยต่อสำนักข่าว CNN ว่า คณะสืบสวนพบหลายสัญญาณบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นในระยะเริ่มแรก อาจกว้างกว่าที่เราคิดไว้มาก เนื่องจากพบไวรัสในช่วงเวลานั้นถึง 13  สายพันธุ์ และพบเจ้าหน้าที่ทางการจีนคนแรกที่ติดโควิด-19 รวมถึงพนักงานบริษัทวัยประมาณ 40 ปีที่ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ทั้งที่ไม่มีประวัติเดินทางเลย 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 174 คน ในและรอบพื้นที่เมืองอู่ฮั่นในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2019 ด้วย จึงเป็นไปได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้ออาจเป็นวงกว้างและอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2019 แล้ว ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยบางคนนั้นไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับตลาดหัวหนานซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นต้นตอเลย

และหากมีการตรวจสอบลำดับพันธุกรรมกับข้อมูลผู้ติดเชื้อในจีนช่วงปี 2019 ที่กว้างขึ้น อาจทำให้ทราบเบาะแสและภูมิประเทศ รวมถึงช่วงเวลาในการแพร่ระบาดตั้งแต่ก่อนเดือนธันวาคม และก็เป็นไปได้ว่า ไวรัสอาจแพร่ระบาดมานานกว่า 1 เดือนก่อนหน้านั้นแล้ว

ศาสตราจารย์ เอ็ดเวิร์ดโฮล์มส์ (Prof. Edward Holmes) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่า “เนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรมในลำดับ SARS-CoV-2 ที่สุ่มตัวอย่างจากอู่ฮั่นในเดือนธันวาคม 2019 ถึง 13 สายพันธุ์ จึงมีแนวโน้มว่า ไวรัสได้แพร่ระบาดมาระยะหนึ่งแล้ว นานกว่าเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว … ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์อื่น ๆ และบ่งชี้ว่า น่าจะมีการแพร่เชื้ออย่างลับ ๆ ก่อนที่จะตรวจพบครั้งแรกในตลาดหัวหนาน”

คณะผู้เชี่ยวชาญเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสัตว์หูเป่ยในอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
Credit: CNN

ต้นกำเนิดที่ยังคงคลุมเครือ กับความหวังในการสืบเพิ่ม

นอกจากนี้ กรณีศึกษาจำนวน 92 เคสซึ่งแพร่กระจายออกไปใน 2 เดือนทั่วภูมิภาคหูเป่ย ก็ทำให้เอ็มบาเรคทึ่ง เนื่องจากลักษณะการแพร่กระจายแตกต่างจากลักษณะที่พบได้บ่อย ผู้ติดเชื้อแต่ละคนถูกพบเป็นกลุ่มเล็ก และพบกระจัดกระจายไปทั่วทั้งมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งของอู่ฮั่นอีกที

“ไม่มีการแพร่กระจายในสถานที่จำเพาะ กระทั่งชายวัย 40 ปี ที่เป็นผู้ป่วยรายแรกก็ไม่มีความเชื่อมโยงกับตลาด ไม่มีประวัติการเดินทาง หรือการใช้ชีวิตที่หวือหวาอย่างการเดินป่า เดินเขาอะไรเลย เขาเป็นเพียงพนักงานออฟฟิศธรรมดา ๆ ” เอ็มบาเรคกล่าว 

และเพราะเหตุนี้ ทีมสืบสวนของ WHO ต้องการเดินทางกลับไปอู่ฮั่นอีกในไม่กี่เดือนหลังจากนี้ เพื่อสืบสวนในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม และคาดหวังว่าจะได้ตรวจสอบตัวอย่างเลือด กว่า 2 แสนตัวอย่างจากธนาคารเลือดในอู่ฮั่น ย้อนหลังไป 2 ปี

“เราเข้าใจดีว่าตัวอย่างเหล่านี้เป็นกลุ่มตัวอย่างที่จำนวนน้อยมาก และใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่จำเป็นจริง ๆ อย่างการดำเนินคดีเท่านั้น …ยังไม่มีกลไกใดที่จะอนุญาตให้ทำการศึกษาเป็นประจำกับกลุ่มตัวอย่างประเภทนี้ได้ …อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 2 กลุ่มใหญ่ก็ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่ามันมีการอภิปรายโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่โปรดจำไว้ว่า เรามีโลกทั้งใบอยู่บนบ่าตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งไม่ได้ทำให้งานในหมู่นักวิทยาศาสตร์ง่ายขึ้นเท่าใดนัก”

นี่เป็นเพียงแถลงการณ์ส่วนหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยออกมาเท่านั้น เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า WHO จะเผยแพร่ข้อมูลใดออกมาอีก จะช่วยให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ดีขึ้นได้อย่างไร จะตอบข้อสงสัยและช่วยทำให้ข้อสมมติฐานที่มีกระจ่างชัดขึ้นได้หรือไม่ ไม่แน่ว่าเราจะค้นพบวิธียับยั้งและเข้าใจเชื้อโรคนี้มากกว่าเดิมก็ได้

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส