การเข้าไปในฝันของใครสักคนเพื่อสื่อสารและขโมยความลับของเจ้าของความฝันอย่างในหนังเรื่อง Inception ดูเหมือนจะเป็นแค่พล็อตนิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ในตอนนี้มันกลับเข้าใกล้ความเป็นจริงเมื่อนักวิจัยสามารถสื่อสารกับ Lucid dreamers หรือ เจ้าของฝันที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังฝันอยู่โดยการถามคำถามทั่วไปและปัญหาทางคณิตศาสตร์ ผลการวิจัยจาก 4 ห้องทดลอง และผู้เข้าร่วม 36 คน ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถรับและประมวลผลข้อมูลภายนอกที่ซับซ้อนขณะหลับได้
Benjamin Baird นักประสาทวิทยา ของมหาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับและความฝัน (แต่ไม่ได้ร่วมงานวิจัย) ได้กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า “งานวิจัยนี้ท้าทายคำจำกัดความของการนอนหลับ” เนื่องจากเมื่อเรานอนหลับแล้วสมองจะอยู่ในสถานะที่ถูกตัดการเชื่อมต่อและไม่รับรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก
Lucid dreaming เป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในงานเขียนของ อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีกในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริตศักราช แต่เกิดการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยนักวิทยาศาสตร์ในปี 1970 ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของตาขณะหลับ เมื่อความฝันเกิดขึ้น 1 ใน 2 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่รู้ว่าตนเองกำลังฝันอยู่ และประมาณ 10% ของคนเหล่านั้นจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แม้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่เราสามารถฝึกให้ตนเองรับรู้และควบคุมความฝันของตนเองได้ งานวิจัยบางชิ้นพยายามที่จะสื่อสารกับผู้ที่นอนหลับในความฝันโดยใช้สิ่งกระตุ้น เช่น แสง, กระตุ้นด้วยกระแสไฟ และเสียง เพื่อเข้าสู่ความฝันของคน แต่จากการบันทึกพบเพียงการตอบสนองเพียงเล็กน้อยของผู้ที่หลับและไม่พบการส่งข้อมูลที่ซับซ้อน
ทีมนักทดลองทั้ง 4 ทีม จาก ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และ สหรัฐอเมริกา พยายามจะที่จะเดินหน้าการทดลองโดยการถามคำถามที่ซับซ้อนหรือคำถามที่เจ้าของความฝันไม่เคยได้ยินมาก่อนในการฝึกฝน โดยคัดเลือกอาสาสมัคร 36 คน ทั้งที่เคยมีประสบการณ์รู้ตัวว่าฝัน และทั้งที่ไม่มีประสบการณ์แต่สามารถจดจำฝันของตัวเองได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
นักวิจัยฝึกฝนอาสาสมัครให้สามารถควบคุมความฝันตนเองได้โดยการอธิบายการทำงานของการรับรู้ฝันและบอกวิธีกระตุ้น เช่น แสงหรือการเคาะนิ้ว โดยการกระตุ้นจะทำในขณะที่อาสาสมัครหลับ แนวคิดคือสัญญาณกระตุ้นเหล่านั้นจะทำให้ผู้ฝันรู้ตัวว่าตัวเองกำลังฝันอยู่
เวลานอนของผู้ทดลองจะถูกจัดไว้ในเวลาที่ต่างกันบางคนในเวลากลางคืนเหมือนกับปกติ แต่ในบางคนป็นเวลาเช้า ในแต่ละห้องทดลองจะใช้วิธีสื่อสารกับผู้หลับแตกต่างกัน เช่นการถามคำถามพร้อมกับกะพริบไฟ เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้หลับกำลังเข้าสู่ความฝันและมีการตอบคำถามโดยการขยับดวงตาและใบหน้า เช่น การขยับดวงตาไปทางซ้าย 3 ครั้ง
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการทดลองกำลังหลับนักวิทยาศาสตร์จะติดตามการทำงานของสมอง การเคลื่อนไหวของดวงตาและกล้ามเนื้อใบหน้าโดยใช้ Electroencephalogram helmet หรือ “หมวกคลื่นสมอง” จากฝันทั้งหมด 57 ครั้ง พบว่ามีผู้เข้าร่วม 6 คน จาก 15 คน รับรู้ว่าตนเองฝัน ในการทดสอบนี้นักวิจัยถามคำถามง่าย ๆ ที่ตอบเพียงใช่หรือไม่หรือคำถามทางคณิตศาสตร์อย่างง่าย พบว่ามีการตอบสนองโดยใช้สัญญาณที่ได้รับการฝึกก่อนที่จะหลับเช่นการยิ้ม ขมวดคิ้วและขยับตาหลาย ๆ ครั้ง ในบางห้องทดลองมีการขยับตาในรูปแบบของรหัสมอสเพื่อสื่อสาร
ในการถามคำถามทั้งหมด 158 คำถาม พบว่าตอบคำถามถูกต้อง 18.6% ตอบผิดเพียง 3.2% ตอบคำถามไม่ชัดเจน 17.7% และไม่มีการตอบสนอง 60.8% นักวิจัยกล่าวว่าตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่าถึงแม้การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นการพิสูจน์แนวคิดและทำให้การสื่อสารมีประสิทธภาพมากขึ้น
จากการพูดคุยกับผู้ทดลองขณะตื่นเพื่อสอบถามถึงลักษณะของความฝันว่าเป็นอย่างไร ผู้ทดลองกล่าวว่าบางครั้งคำถามจะออกมาเป็นเสียงจากรายการวิทยุ เสียงรบกวนในงานปาร์ตี้ หรือเป็นเสียงของผู้ดำเนินเรื่องเหมือนในภาพยนตร์
การทดลองเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถหาวิธีที่ดีกว่าเดิมในการศึกษาความฝัน Karen Konkoly กล่าวว่า ในการศึกษาความฝันเกือบทุกอย่างเราต้องอาศัยการศึกษาย้อนหลังสิ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดเพี้ยง และหวังว่าเทคนิคนี้จะช่วยในการรักษาอาการวิตกกังวลจากการบาดเจ็บและอาการซึมเศร้า การสื่อสารในความฝันอาจช่วยให้เจ้าของความฝันแก้ไขปัญหา พัฒนาทักษะ และอาจทำให้เกิดไอเดียที่สร้างสรรค์ได้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว
อ้างอิง Sciencemag
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส