คณะนักวิทยาศาสตร์จีนประกาศใช้กล้องโทรทรรศน์ที่พัฒนาขึ้นเอง จับภาพ โคโรนา (corona) บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ

แต่ไหนแต่ไรมาการสังเกตดวงอาทิตย์นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์สว่างจ้ามาก นักดาราศาสตร์จึงต้องสังเกตการณ์ชั้นโคโรนาอันเบาบางของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่เกิดสุริยุปราคากันมาตลอด เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดการใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยสังเกตการณ์ และหนึ่งในนั้นก็คือกล้องโคโรนากราฟ (coronagraph)

สำหรับกล้องโคโรนากราฟที่จีนพัฒนานี้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นแสงจากพื้นผิวชั้นหลักดวงอาทิตย์สำหรับการสังเกตชั้นบรรยากาศโคโรนาโดยเฉพาะ ตั้งอยู่บนภูเขาสูง 4,800 เมตร ในอำเภอเต้าเฉิง แคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

หลินจวิน หัวหน้าโครงการกล้องโคโรนากราฟของหอดูดาวอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) กล่าวว่า กล้องโคโรนากราฟทั่วไปจะทำงานเลียนแบบปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างสุริยุปราคา โดยมีการติดตั้งตัวบดบังทรงกลมอยู่ภายใน เพื่อปิดกั้นแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์

หลังจากทุ่มเทเวลาคัดเลือกสถานที่และสร้างอุปกรณ์นานหลายปี ในที่สุด คณะนักวิทยาศาสตร์จีนก็มองเห็นชั้นบรรยากาศโคโรนาได้อย่างชัดเจนผ่านกล้องโคโรนากราฟที่ผลิตในประเทศเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยได้เผยแพร่ภาพถ่ายที่บันทึกโดยกล้องดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนมีนาคม (ภาพหน้าปก)

ทีมวิจัยใช้กล้องโคโรนากราฟสังเกตการณ์ในอำเภอเต้าเฉิง แคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2021
Credit: Xinhuathai

ฟางเฉิง นักวิชาการของสถาบันฯ ระบุว่า “อุปกรณ์ดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นอันดีและสามารถมอบแนวทางการพัฒนากล้องโคโรนากราฟขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต”

ถัดจากนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์วางแผนติดตั้งกล้องโคโรนากราฟบนบอลลูนที่ลอยห่างจากพื้น 20-100 กิโลเมตร เพื่อสังเกตและศึกษาโครงสร้างสนามแม่เหล็กและการกระจายของพลาสมาในชั้นบรรยากาศโคโรนาในเดือนสิงหาคมและกันยายนปีนี้ต่อไป

อ้างอิง

Xinhuathai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส