The Ocean Cleanup คือองค์กรสิ่งแวดล้อมด้านวิศวกรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งโดย โบแยน สแลต เด็กหนุ่มนักศึกษาวิศวกรรมอากาศยานไฟแรงที่มีแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าจะเก็บขยะทั้งมหาสมุทรให้หมดสิ้นไปให้ได้สักวัน
สแลต เสนอแนวคิดในการกำจัดขยะที่ Great Pacific Garbage Patch หรือแพขยะใหญ่แปซิฟิกที่ถือเป็นหนึ่งในวังวนของขยะในมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการอาศัยแรงของกระแสน้ำพัดพาขยะเข้าสู่ที่ดักจับขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าทำสำเร็จพวกเขาจะสามารถกำจัดขยะในที่แห่งนี้ได้ภายใน 5 ปี (จากปกติที่คาดการณ์กันไว้ว่าต้องใช้เวลามากถึง 80,000 ปี ในการกำจัดขยะในแพขยะให้หมดสิ้นไป) หลังจากที่แสลตเสนอแนวคิดนี้ไป จึงมีนักลงทุนมากมายมาร่วมระดมทุนจนกลายเป็นบริษัทสตาร์ตอัปในชื่อ ‘The Ocean Cleanup’
หลังจากนั้นไม่นานเขาผลิตเครื่องมือต้นแบบรุ่นแรกสำเร็จในชื่อ System 001 มีลักษณะเหมือนทุ่นลอยน้ำความยาว 600 เมตร ที่จะคอยดักจับขยะในมหาสมุทรเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ทว่าหลังจากที่เขาได้ลองนำตัวต้นแบบไปใช้ใน Great Pacific Garbage Patch ประมาณ 2 เดือน กลับพบว่าเซนเซอร์ยังคงไม่มีเสถียรภาพในการใช้งานจนดักจับขยะไปได้เพียง 2 ตันเท่านั้น จากที่คาดไว้ว่าจะจับขยะได้มากถึง 50 ตัน ดังนั้น System 001 ตัวต้นแบบรุ่นแรกนี้จึงถูกนำขึ้นฝั่งเพื่อเอาไปพัฒนาต่อเพิ่มเติม
ล่าสุด พวกเขาผลิต Interceptor เรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะคอยดักจับขยะในทะเลอัตโนมัติ โดยตัวเรือจะมีสายพานเพื่อลำเลียงขยะเข้าไปในตัวเรือ หากขยะข้างในเต็มจะมีระบบแจ้งเตือนไปยังผู้คุมบนฝั่งเพื่อเปลี่ยนถ่ายขยะจากเรือออกไป ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เรือดักจับขยะพลังงานแสงอาทิตย์นี้ทำงานอยู่
ซึ่งหลักการทำงานในการเก็บขยะก็จะคล้ายกับของแบบแรกนั่นก็คือการอาศัยกระแสน้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำ เพื่อต้อนขยะมารวมกันเป็นกองใหญ่ จากนั้นตัวเรือก็แค่ดักจับขยะที่จะค่อย ๆ ไหลเข้ามาหาเอง โดยขยะที่ได้ก็จะนำไปผ่านกระบวนการอย่างเหมาะสมต่อไป
เป้าหมายสูงสุด ณ ตอนนี้ของสตาร์ตอัป The Ocean Cleanup คือจะร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อลดขยะพลาสติกในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดจำนวน 1,000 แห่งทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าว่าจะต้องกำจัดขยะพลาสติกในวงแหวนกระแสน้ำของมหาสมุทรทั้ง 5 แห่ง ให้หมดสิ้นไปให้ได้ภายในปี 2040
อ้างอิง theoceancleanup, wikipedia
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส