22 มีนาคม 2021 เวลา 13:07 น. ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย จรวด Soyuz-2.1a ของรัสเซียได้นำดาวเทียม 38 ดวงจาก 18 ประเทศ ได้ออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวด Baikonur ในรัสเซีย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนกำหนดการเดินทางมาหลายครั้ง และหนึ่งในดาวเทียมที่ว่านั้นมีผลงานของเด็กไทยด้วย
ดาวเทียมที่ว่าคือ BCCSAT-1 เป็นผลงานการออกแบบและประกอบดาวเทียมของนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ภายใต้การดูแลและโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในโครงการ BCC SPACE PROGRAM โดยถือเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และหนึ่งในดาวเทียมไม่กี่ดวงในโลก ที่ถูกพัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยม
โครงการ BCC Space Program มีนักเรียนในโครงการ 36 คน คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 23 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 คน ทั้งนี้ ได้ทำความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษกับบริษัท ASTROBERRY โดยดาวเทียมที่ส่งไปถือเป็นสมบัติและลิขสิทธิ์ทางปัญญาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนได้ทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยโตเกียว
เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศให้แก่นักเรียน เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศเป็นองค์ความรู้แบบบูรณาการ จึงช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการคิดวิเคราะห์ และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมได้
สำหรับภารกิจหลักของ BCCSAT-1 คือ
- ทดสอบเครื่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมและเสาอากาศที่พัฒนาขึ้นเองว่าทำงานได้จริงในวงโคจรหรือไม่
- ทดลองการส่ง Slow-Scan Digital Video (SSDV) จากดาวเทียม
- ถ่ายภาพโลกด้วยกล้อง 5 ตัวที่ติดตั้งบนดาวเทียม ซึ่งจะจับภาพของโลกในช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน
สำหรับภาพที่ได้รับจากกล้อง ผู้ออกแบบหวังว่าจะนำไปใช้ประมวลผล Normalized difference vegetation index (NDVI) ซึ่งจะให้ประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ภูมิศาสตร์ของประเทศ
นอกจากดาวเทียมของเยาวชนไทยแล้ว จรวด Soyuz-2.1a ยังนำส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกล CAS500-1 ของสาธารณรัฐเกาหลี ยานกำจัดขยะอวกาศ ELSA-d ของญี่ปุ่น ดาวเทียมตรวจจับระยะไกลขนาดจิ๋ว GRUS Earth ของญี่ปุ่น ดาวเทียมถ่ายภาพและสื่อสาร NAJM-1 Earth ของซาอุดิอาระเบีย ดาวเทียมสื่อสารของมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน รวมถึงดาวเทียม D33 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโรงเรียนเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงของรัสเซียด้วย
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส