ทีมนักออกแบบจากโครงการ ‘CAPTN vaiaro’ ได้ตอบคำถามที่ว่าความคล่องตัวในการเดินทางของมนุษย์ในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร ด้วยการเปิดแนวคิดเรือข้ามฟากอิสระ 2 รุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพวกเขาได้พัฒนารูปแบบการขนส่งทางเลือกใหม่ โดยพิจารณาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองและสถานการณ์การจราจรบนเมืองท่าคีล ฟยอร์ด (Kiel Fjord) ประเทศเยอรมนี
โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยคีล, มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์คีล, มหาวิทยาลัยวิจิตรศิลป์และการออกแบบมิวเทเซียสและตัวแทนจากการเมืองการบริหารและอุตสาหกรรม
ตัวเรือเฟอรรีดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยกัน 2 คอนเซปต์คือ ‘แพลตฟอร์มลอยน้ำ’ และ ‘แพลตฟอร์มแบบทางเดิน’ ซึ่งมีวิธีการออกแบบที่แตกต่างกัน สำหรับแพลตฟอร์มแบบลอยน้ำจะมีการออกแบบเป็นเหมือนกล่องกระจกที่มีครีบหลังและล้อมรอบไปด้วยกระจกใสแบบ 360 องศา ส่วนอีกแบบจะเป็นเหมือนเทอร์มินัลลอยน้ำที่ปกคลุมไปด้วยโครงตาข่ายเหล็กที่มีดีไซน์ล้ำยุค
ผลจากการใช้ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า เรือข้ามฟากทั้งสองลำจึงมีการเดินทางที่เงียบ ไม่เหมือนกับเรือข้ามฟากทั่วไปที่ค่อนข้างสร้างมลพิษทางเสียงพอสมควร อีกทั้งยังปราศจากการปล่อยมลพิษทางอากาศอีก เนื่องจากใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ด้วยความที่เรือสามารถทำงานได้อย่างอิสระจากตัวมันเอง เพราะเป็นระบบแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ดังนั้น ทางผู้สร้างจึงหวังว่าจะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการได้มากขึ้น โดยสามารถให้บริการผู้โดยสารได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนก็สามารถเรียกใช้งานได้
นอกจากนี้ผู้ผลิตยังหวังว่าเรือเฟอร์รี 2 ลำนี้จะกลายเป็นความหวังใหม่ที่คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญให้กับเมืองคีล ที่เมื่อใดมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองนี้ พวกเขาจะต้องไม่พลาดที่จะมาเยือนท่าเรือแห่งนี้และขอใช้บริการเรือเฟอร์รีล้ำยุค 2 ลำนี้ให้ได้สักครั้ง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส