EMSNOW เว็บไซต์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทั้งแวดวง การเงิน, ธุรกิจ, อุตสาหกรรม, รวมไปถึงวิสัยทัศน์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตแบบเรียลไทม์ จัดงานเสวนาออนไลน์ The EMS (Eric Miscoll Show) ที่แลกเปลี่ยนมุมมองในอนาคตบนหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของยุค อุตสาหกรรม 4.0 และความเป็นไปได้ของการผลิตด้วยตัวเอง (Autonomous Manufacturing)

โดยมีผู้ร่วมอภิปรายมากความสามารถ และมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้โดยตรงทั้งหมด 2 ท่าน ได้แก่ Theo Saville ผู้ก่อตั้ง CloudNC และ Yoav Zingher ผู้ก่อตั้งบริษัท Launchpad.build 2 บริษัทสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยี AI ล้ำสมัยเข้ามาช่วยจัดการกระบวนการผลิตที่มีความสับซ้อนสูงให้มี ความแม่นยำ, ต้นทุนถูก ดำเนินรายการโดย Philip Stoten นักข่าวผู้มากประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมการผลิต และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท SCOOP

การผลิตแบบอัตโนมัติ และ การผลิตด้วยตัวเอง คืออะไร?

การผลิตแบบอัตโนมัติ (Automated Manufacturing) คือรูปแบบการผลิตที่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติผ่านการตั้งโปรแกรมโดยมนุษย์ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ในภาคส่วนที่เกินความสามารถของมนุษย์ อีกทั้งการผลิตแบบอัตโนมัติยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตให้มีความแม่นยำ และได้คุณภาพสูง แถมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย

ยกตัวอย่างโกดังเก็บสินค้าที่ใช้ Boxed บริษัทสตาร์ตอัปที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการขนส่งสินค้า ด้วยการใช้ระบบขนส่งรางอัตโนมัติ ประกอบกับการตั้งโปรแกรมพาหนะลำเลียงวัสดุ (AGV) ไว้ช่วยในการอ่านค่าบาร์โคดพิเศษเพื่อให้ลำเลียงวัสดุไปยังจุดที่กำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำ แต่ก็ยังรักษาแรงงานฝีมือให้ทำงานควบคู่ไปกับระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการผลิตด้วยตัวเอง (Autonomous Manufacturing) เป็นรูปแบบการผลิตที่รวบรวมทั้งระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ อินเทอร์เน็ต รวมถึงเทคโนโลยี AI เข้ามาผสานกันเป็นระบบนิเวศ เพื่อช่วยในการผลิตที่มีความซับซ้อนหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันสั้น แถมยังสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ของการผลิตมาใช้ในการคาดการณ์ และตัดสินใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวระบบเอง

เปรียบเทียบตัวอย่างโรงงานการผลิตที่มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ติดตั้งระบบ AI เข้ามาช่วยประมวลผลให้มีกลไกการทำงานแบบตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อช่วยผลิตชิ้นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและเทคนิคขั้นสูงในการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หรืออากาศยาน พูดง่าย ๆ ก็เปรียบเสมือน ‘จาร์วิส’ ปัญญาประดิษฐ์สุดอัจฉริยะในภาพยนตร์เรื่อง Iron Man ที่ทำหน้าที่ในโรงงานการผลิต

จากการผลิตแบบอัตโนมัติสู่การผลิตด้วยตัวเอง

ในปัจจุบันมักจะได้ยินคำพูดเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรม 4.0’ หรือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ กันมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบการมากมายต่างถกประเด็นถึงแนวคิดที่จะรวบรวมระบบข้อมูลขนาดใหญ่ และการผลิตแบบอัตโนมัติ เข้ามาเชื่อมต่อกับการทำงานภายในโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพวกเขาให้สูงขึ้น แต่ความเป็นจริงกลับมีเพียงแค่คำพูด ที่สวนทางกับการกระทำ

Theo Saville ผู้ก่อตั้ง CloudNC กล่าวภายในงานว่า “เขาไม่เชื่อแนวคิดที่ว่าการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบอัตโนมัตินั้นคือการเรียกว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม” เพราะเขามองว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นไม่บ่อย เขาอธิบายถึงมุมมองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า อุตสาหกรรม 4.0 เป็นเพียงการวิวัฒนาการของ อุตสาหกรรม 3.0 เท่านั้น มันไม่ใช่การปฏิวัติ

เดิมที Theo เล็งเห็นโอกาสทางช่องว่างที่เกิดขึ้นของการผลิตแบบ CNC ที่มีประสิทธิภาพการทำงานแม่นยำ สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ แต่การป้อนโปรแกรมเพื่อลดความซับซ้อนกลับทำได้ไม่ดีพอ เขาจึงเห็นโอกาสความเป็นไปได้เริ่มต้นรูปแบบการผลิตด้วยตัวเอง โดยดึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ผสานมาเป็นระบบนิเวศ ให้มีคุณภาพการผลิตที่รวดเร็ว และราคาที่ถูกกว่าการผลิตแบบ CNC

ซึ่งก็มีรูปแบบแนวคิดที่ค่อนข้างคล้ายกันกับ Yoav Zingher ผู้ก่อตั้งบริษัท Launchpad.build ที่สร้างแพลตฟอร์มที่รองรับรูปแบบการผลิตด้วยตัวเอง โดยใช้แพ็กเกจ CAD (คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการผลิตที่ซับซ้อน ให้มีความสามารถการผลิตที่รวดเร็วแล้วมีต้นทุนที่ต่ำ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาทั้ง 2 ต่างมีแนวคิดทีจะสร้างระบบนิเวศการผลิตด้วยตัวเอง

มากไปกว่านั้นทั้ง Theo และ Yoav ไม่ได้มีมุมมองถึงความกังวลว่า รูปแบบการผลิตด้วยตัวเองนั้นจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์แม้แต่น้อย เพราะในความคิดของพวกเขามองว่า การป้อนโปรแกรมให้เครื่องจักรมีความฉลาดในการทำงานที่มากขึ้น มันจะเป็นตัวผสานทั้งระบบเครื่องจักรและมนุษย์ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืม รวมถึงยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย

ยกตัวเช่นโรงงานของบริษัท Amazon.com บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางเทคโนโลยีที่ครบครัน แต่กลับเลือกที่จะใช้แรงงานที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตด้วยตัวเอง กลายเป็นการสร้างระบบนิเวศการผลิตที่ลงตัว สามารถให้ซอฟต์แวร์จัดการตั้งแต่ระบบการสั่งซื้อจนไปถึงการขนส่งได้อย่างดีเยี่ยม

แล้วถึงเวลาของการผลิตด้วยตัวเองแล้วหรือยัง?

ช่วงเวลานี้ถ้ากล่าวถึงระบบการผลิตด้วยตัวเองนั้น มันไม่ได้แค่เป็นเพียงแนวคิดที่ดีมากเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการนำระบบการผลิตด้วยตัวเองและการผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาพลักดันอุตสาหกรรมการผลิต ให้มีต้นทุนที่ถูกลง แล้วยังสามารถดึงแรงงานที่มีความสามารถสูง กลับเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังประสบวิกฤตจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้ง Theo และ Yoav ยอมรับว่าโซลูชันการผลิตด้วยตัวเองและอัตโนมัตินั้นเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะนำพาสหรัฐอเมริกาและประเทศในฝั่งยุโรปตะวันตก กลับมากุมความได้เปรียบของการแข่งขัน และชดเชยการจ้างงานของแรงงานที่มีศักยภาพสูง กลับเข้ามาทำงานในประเทศบ้านเกิด

เพราะผู้บริโภคเองไม่ต้องการบริโภคสินค้าราคาแพงที่ผลิตในภายประเทศ หรือปริมาณสินค้าที่น้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ดังนั้นแล้วรูปแบบการผลิตด้วยตัวเองอาจจะเป็นทางออกเดียวของวงการอุตสาหกรรมการผลิต พร้อมกับการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลงสามารถสร้างความคล่องตัวและความยืดหยุ่นทางธุรกิจได้มากขึ้น

เครดิต: Entrepreneur, Airbus, MMthailand, อุตสาหกรรม40

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส