เมื่อข้อมูลของเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity บนดาวอังคาร เดินทางมาถึงทีมผู้ดูแลภารกิจบนพื้นโลก ในวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามเวลาประเทศไทย ทำให้นาซาตัดสินใจประกาศการปรับเปลี่ยนเที่ยวบินทดลองครั้งแรกเป็นไม่เกินวันที่ 14 เมษายนนี้

เนื่องจากการทดสอบหมุนใบพัดความเร็วสูงเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ระบบคำสั่งของเฮลิคอปเตอร์ได้เปลี่ยนจากโหมด ‘Pre-Flight’ เป็นโหมด ‘Flight’ เรียบร้อยแล้ว โดยเฮลิคอปเตอร์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีและเซตระบบสื่อสารข้อมูลทางไกลเชื่อมต่อกับโลกไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ทีมผู้ดูแลภารกิจกำลังตรวจสอบระบบทั้งหมดและจะจัดตารางสำหรับการทดสอบเที่ยวบินขึ้นใหม่

สำหรับการนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินนั้นมีเงื่อนไขอยู่หลายอย่างด้วยกัน ประการแรก Ingenuity ‘ไม่สามารถบินได้ในเวลากลางคืน’ เนื่องจากความอยู่รอดของตัวเครื่องขึ้นอยู่กับกล้องที่ใช้สังเกตพื้นดินเพื่อนำทาง อันที่จริงถ้าไม่ต้องพึ่งพากล้องเพื่อนำทาง เวลากลางคืนจะเป็นเวลาที่ดีสำหรับการขึ้นบิน เนื่องจากความหนาแน่นของอากาศจะสูงขึ้น ทำให้บินได้ง่ายขึ้น

เหตุผลต่อมาคือ Ingenuity ต้อง ‘ประสานกิจกรรมทั้งหมดกับยานสำรวจ Perseverance’ เพื่อช่วยให้การดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ในบางเวลา Perseverance ก็มีภารกิจ เช่น การส่งสัญญาณวิทยุเพื่อถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมที่อยู่เหนือน่านฟ้าดาวอังคาร หรือปฏิบัติการอื่น ๆ เวลาที่ขึ้นบิน จึงต้องตรงกับเวลาที่ ยานสำรวจ Perseverance ปราศจากภารกิจอื่น ๆ มารบกวน

เมื่อ Ingenuity ขึ้นบินมันต้องใช้พลังงานจำนวนมากหลายร้อยวัตต์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ให้พลังขับเคลื่อนหลักสองตัวของ Ingenuity และมอเตอร์ควบคุมระยะพิตช์ของใบมีด 6 ตัวจำเป็นต้องเผชิญกับปัญหาไฟกระชาก เนื่องจากอาจต้องต่อสู้กับลมกระโชกที่อาจเกิดขึ้น และจำเป็นต้องรักษาแรงดันไฟฟ้าของเฮลิคอปเตอร์เพื่อไม่ให้มอเตอร์หยุดทำงานหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีปัญหา นอกจากนี้ Ingenuity ยังต้องผ่านยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บบนดาวอังคาร จึงไม่มีพลังงานในแบตเตอรี่มากนัก ดังนั้นก่อนขึ้นบินเฮลิคอปเตอร์จึงจำเป็นต้อง ‘อาบแสงแดด’ ระยะหนึ่งเพื่ออุ่นเครื่องและปล่อยให้แผงโซลาร์เซลล์ชาร์จแบตเตอรี่ให้เพียงพอ ซึ่งนั่นหมายความว่า Ingenuity ไม่สามารถบินได้ในตอนเช้าตรู่ แต่ต้องเป็นช่วงเที่ยงหรือบ่าย

แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเวลาบ่ายแก่ไม่ได้ เนื่องจากเที่ยวบินอาจใช้เวลายาวนานไปถึงยามเย็นและยามค่ำที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งอาจทำให้แบตเตอรี่หมดลงก่อนจบภารกิจได้

นอกจากนี้ ทีมยังต้องระวัง ‘ลม’ แม้ Ingenuity จะผ่านการทดสอบในลมจำลองในห้องปฏิบัติการที่ JPL (Jet Propulsion Laboratory) มาแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าลมแบบไหนที่จะเกิดขึ้นบนดาวอังคารกัน ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือการบินขึ้นและลงจอด ขณะมีลมกระโชกแรง เพื่อช่วยในเรื่องนี้ นาซาจึงมีทีม ‘พยากรณ์อากาศ’  ช่วยประมาณลมที่จะเกิดบนดาวอังคารโดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์และข้อมูลเบื้องต้นจากเซนเซอร์สภาพอากาศบนรถสำรวจ Perseverance 

เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดนี้ ทีมผู้ดูแลภารกิจก็จะเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเราต้องตามลุ้นต่อไป แต่อีกไม่นานเกินรอแน่นอน ปักหมุดเตรียมรอชมเที่ยวบินแรกบนดาวอังคารกันได้เลย!

อ้างอิง

NASA1 / NASA2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส