SpaceX เผยจะปล่อยดาวเทียมบรอดแบนด์ Starlink สู่วงโคจรระดับต่ำของโลกเพิ่มอีก 60 ดวง ในภารกิจ v1.0 L24 ด้วยจรวด Falcon9 จาก SLC-40 สถานีกองทัพอากาศ Cape Canaveral รัฐฟลอริดาในวันพุธที่ 28 เมษายน เวลา 11:44 p.m. EDT (ในประเทศไทยวันพฤหัสบดีเวลา 10:44 น.) ซึ่งจะทำให้ SpaceX มีดาวเทียม Starlink อยู่ในวงโคจรรวมทั้งหมดที่ 1,438 ดวง
ภารกิจนี้จะใช้นำบูสเตอร์ B1060 กลับมาใช้ใหม่เป็นครั้งที่ 7 ซึ่งได้ผ่านการใช้งานมาแล้ว 6 เที่ยวบิน ได้แก่ การปล่อยดาวเทียม GPS III ให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ , การปล่อยดาวเทียมสื่อสาร Türksat 5A ของตุรกี และ 4 ภารกิจในการปล่อยดาวเทียม Starlink หลังจากที่บูสเตอร์บินแยกออกจากจรวดท่อนที่ 2 แล้วก็จะบินกลับมาลงจอดบนเรือโดรน “Just Read the Instructions” ในมหาสมุทรแอตแลนติก
ต้นเดือนเมษายน Gwynne Shotwell ประธานของ SpaceX เปิดเผยว่าในอีกไม่กี่เดือนหลังจากภารกิจ v1.0 L28 ก็จะมีดาวเทียม Starlink ในวงโคจรมากกว่า 1,600 ดวง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ครอบคลุมได้ทั่วโลก
27 เมษายน คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) ได้อนุมัติให้ SpaceX สามารถปล่อยดาวเทียม Starlink อยู่ในวงโคจรที่ต่ำกว่าเดิมจากระดับความสูง 1,110 – 1,325 กม. (ที่ได้อนุมัติไว้ตอนแรกในปี 2018 จำนวน 4,425 ดวง) เป็น 540 – 570 กม. ช่วยให้ดาวเทียมชุดต่อไป 2,814 ดวงใช้ระดับที่ 540 – 570 กม. หลังจากที่ SpaceX จะปล่อยดาวเทียมชุดแรกได้ 1,584 ดวงที่ระดับ 550 กม. ในอีกไม่กี่เดือน
พฤศจิกายน 2018 SpaceX ได้ยื่นขอปรับเปลี่ยนระดับวงโคจรของดาวเทียม Starlink จำนวน 2,814 ดวงให้ต่ำลงที่ 550 กม. ซึ่งจะช่วยให้ความหน่วงแฝงลดลงเหลือ 15 ms. และดาวเทียมยังคงสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้เหมือนเดิมแต่สามารถลดจำนวนดาวเทียมได้น้อยลง 16 ดวง (ช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น) อีกทั้งดาวเทียมที่หมดอายุหรือเสียหายไม่ได้ใช้งานแล้วที่ความสูงในระดับนี้ จะถูกดึงออกจากวงโคจรและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงจะช่วยลดขยะอวกาศที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
สรุปง่าย ๆ ว่าการอนุมัติของ FCC มาได้ทันเวลา เพราะ SpaceX จะสามารถปล่อยดาวเทียมได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ภารกิจ v1.0 L28 ปล่อยดาวเทียมได้มากกว่า 1,600 ดวงราวต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วยให้ SpaceX มีเวลาในการเตรียมพร้อมและขับเคลื่อนสร้างเครือข่ายดาวเทียมที่วงโครจรระดับใหม่ได้ตามแผนต่อไป
ที่มา : spacex, cnbc และ theverge
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส