ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อการจัดส่งอะโวคาโดมาถึงมือผู้นำเข้าเมื่อไร ลูกอะโวคาโดแต่ละลูกจะถูกลำเลียงไปตามสายพานเพื่อคัดแยก ขั้นตอนแรก ตัวเครื่องจะทำการเคลือบผิวก่อน เพื่อให้อะโวคาโดสามารถอยู่ได้ยาวนานขึ้น จากนั้นตัวเครื่องจะใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพไฮเปอร์สเปกตรัม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ NASA ใช้ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เพื่อมองเข้าไปในผลไม้โดยไม่ต้องเอาเปลือกออก
เจมส์ โรเจอร์ (James Rogers) ซีอีโอของอะพีล (Apeel) บริษัทในแคลิฟอร์เนียที่ผลิตเทคโนโลยีนี้กล่าวว่า “เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในผักและผลไม้ที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยตาเปล่าได้”
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดยเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคลือบผิวอาหาร ทำหน้าที่เหมือนเป็นเปลือกชั้นที่สองเพื่อปกป้องอาหาร ซึ่งทำให้อาหารสามารถอยู่ได้นานขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งตอนนี้ผู้ผลิตได้เริ่มนำเข้าเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถมองเข้าไปในพื้นผิวของผลไม้ได้
เมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวทำการสะท้อนแสงออกจากตัวผลไม้ จนมีแสงบางส่วนเข้าไปในผลไม้ได้ ทำให้ทางผู้พัฒนาสามารถรวบรวมข้อมูลได้ว่าผลไม้ดังกล่าวสุกและสดเพียงใด จนนำไปสู่การตัดสินใจได้ว่าผลไม้ลูกนั้น ๆ จะอยู่ได้นานแค่ไหน
และหากตรวจสอบและทราบแล้วว่าอะโวคาโดลูกนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน ทำให้ทางผู้ผลิตสามารถจัดการล่วงหน้าได้ว่าจะส่งอะโวคาโดลูกนั้น ๆ ไปที่ไหน ซึ่งแต่เดิมค่อนข้างจะแยกลำบาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างในการจะคาดเดาความสุกของผลไม้ ทั้งวันเวลาของผลไม้แต่ละลูกที่มีความสุกไม่เท่ากันและยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อมของผลไม้ลูกนั้น ๆ ด้วย
จนถึงขณะนี้ บริษัทได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับผลไม้มากมายหลายชนิดในท้องตลาด อาทิเช่น อะโวคาโด แอปเปิล มะนาว ส้มแมนดารินและแตงกวา ในอนาคตก็อาจจะมีการรองรับกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ ต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส