เว็บไซต์ Science Focus ได้รายงานว่า นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนแมรี ลอนดอน ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถเก็บ ดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือ eDNA (environmental DNA) จากอากาศได้
ทีมวิจัยได้ใช้ปั๊มสูบจ่ายของเหลวผ่านท่อหรือสายยาง (Peristaltic Pump) ร่วมกับตัวกรองความดันจากปั๊มสูบ (Pressure Filters) เพื่อเก็บตัวอย่างของ ตุ่นหนูไร้ขน (Naked Mole Rat) เป็นระยะเวลา 5 – 20 นาที จากนั้นจะใช้ชุดเครื่องมือมาตรฐานในการค้าหาและจัดเรียงยีนของผลลัพธ์ที่ได้จากตัวอย่าง วิธีการดังกล่าวมิได้เพียงแค่ระบุถึง DNA ของหนูตุ่นไร้ขนได้เท่านั้น แต่ยังเก็บ DNA บางส่วนของมนุษย์ ได้ในเวลาเดียวกันด้วย
ดร. Elizabeth Claire ได้กล่าวว่า งานวิจัยนี้ เดิมทีมีวัตถุประสงค์ในการช่วยนักอนุรักษ์และนักนิเวศวิทยาศึกษาสภาพแวดล้อมทางชีววิทยา แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กว้างไกลยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักนิติเวชสามารถใช้วิธีนี้ในการดึง DNA จากอากาศเพื่อตรวจหาผู้ต้องสงสัยที่เคยอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม อีกทั้งยังอาจนำมาใช้ในวงการแพทย์ โดยนักไวรัสวิทยาและนักระบาดวิทยา สามารถทำความเข้าใจว่าไวรัสสามารถแพร่ระบาดทางอากาศได้อย่างไร (หนี่งในนั้นก็คือไวรัส COVID-19)
งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีชื่อว่า NatureMetrics เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้ได้จริง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง DNA ในอากาศ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เหมาะกับการใช้ในห้องที่มีผู้คนแออัด หรือใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง เท่าไรนัก
อ้างอิง : engadget
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส