ดวงจันทร์ยังเป็นเป้าหมายหลักของหลายประเทศรวมถึงบริษัทอวกาศเอกชนที่วางแผนเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เช่นเดียวกับ NASA ที่หวังจะส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ผ่านโครงการ Artemis ภายในปี 2024 นอกจากนี้ในปีหน้าก็จะครบรอบ 100 ปีนับตั้งแต่ภารกิจสุดท้ายที่มีมนุษย์ไปเหยียบผิวดวงจันทร์
แต่ข่าวน่าตื่นเต้นยังไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจากการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์แล้ว เราอาจมีอินเทอร์เน็ตสำหรับการสื่อสารระหว่างดวงจันทร์กับโลกด้วย!
จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency – ESA) ประกาศว่า พวกเขากำลังพัฒนาดาวเทียมขยายสัญญาณ GPS เพื่อการนำทางและการสื่อสารสำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้ภายใน 10 ปี และยังกล่าวอีกว่าโครงข่ายดาวเทียมนี้จะเป็นก้าวสำคัญของ “ระบบเครือข่ายบนดวงจันทร์” หรือที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องด้านอวกาศเรียกกันว่าทวีปที่ 8
เอโลดี วิอู (Elodie Viau) ผู้อำนวยการด้านโทรคมนาคมและระบบโปรแกรมประยุกต์ (Telecommunications and integrated applications) ประจำ ESA กล่าวในการประชุมว่า “การมีเครือข่ายสำหรับนำทางและการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เราค้นพบบนดวงจันทร์กลับมายังโลกเป็นกุญแจสำคัญสำหรับภารกิจที่ยั่งยืนในอนาคต ลองนึกภาพนักดาราศาสตร์ตั้งหอดูดาวบนดวงจันทร์แล้วเราก็ประชุมกันผ่านสไกป์ดูสิ”
จากรายงานของ Space.com และเว็บไซต์ ESA โครงการนี้มีชื่อว่า ‘Moonlight’ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ เดวิด พาร์กเกอร์ (David Parker) ผู้อำนวยการฝ่ายมนุษย์และหุ่นยนต์สำรวจประจำ ESA กล่าวว่าโครงการอยู่ระหว่างขออนุมัติจากประเทศสมาชิก โดยขั้นตอนนี้จะเสร็จสมบูรณ์เร็วที่สุดภายในปี 2023 จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการภายใน 4 – 5 ปี
“ดวงจันทร์มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 4.5 พันล้านปี มันคือแหล่งกักเก็บความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ แต่เราแทบไม่มีโอกาสได้ไขความลับของมันเลยด้วยซ้ำ ‘Moonlight’ จึงเป็นโครงการที่น่าตื่นเต้นมากเพราะนี่จะเป็นการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานไปยังดวงจันทร์เพื่อสนับสนุนภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน” พาร์กเกอร์กล่าว
ประโยชน์ของ ‘Moonlight’: เราได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง?
โครงการ ‘Moonlight’ เป็นการสร้างระบบเครือข่ายบนดวงจันทร์ ทำให้มันมีประโยชน์อย่างยิ่งในแง่ของการระบุพิกัดตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันอัตราความแม่นยำของการระบุพิกัดบนดวงจันทร์อยู่ที่ประมาณ 480 เมตร – 4.8 กิโลเมตร เป้าหมายแรกของโครงการคือการทำให้ GPS มีค่าความแม่นยำอยู่ที่ 100 เมตรและจะดีที่สุดหากลดระยะลงมาได้ที่ 30 เมตร (เปรียบเทียบกับ GPS ของอเมริกาที่มีความแม่นยำอยู่ที่ระยะ 1 – 5 เมตร ยิ่งค่าน้อยลงความแม่นยำก็จะมากขึ้นหรือก็คือคลาดเคลื่อนน้อยลงนั่นเอง)
นอกจากนี้การสร้างระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนดวงจันทร์ยังมีประโยชน์ด้านการสื่อสาร เพราะนอกจากอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้นักบินอวกาศสามารถติดต่อกับคนบนโลกอย่างเช่นครอบครัวหรือทีมงานภาคพื้นดินได้ง่ายขึ้นแล้ว มันยังช่วยให้ทีมงานควบคุมการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ทำหน้าที่ได้แม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น ไปจนถึงเรื่องการรายงานสถานการณ์และการค้นพบต่าง ๆ ที่สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นเมื่อมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
ที่สำคัญทาง ESA กล่าวว่าการนำอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี GPS ขึ้นสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จจะช่วยลดต้นทุนทั้งด้านการเงินและเวลาในการดำเนินภารกิจเกี่ยวกับดวงจันทร์ในอนาคต ช่วยให้ทีมงานบนพื้นโลกสั่งงานอุปกรณ์หรือระบบต่าง ๆ ผ่านดาวเทียมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติภารกิจให้สูงขึ้นด้วย
แต่สิ่งที่ทาง ESA เห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือ โครงการ ‘Moonlight’ จะเป็นตัวช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจด้านอวกาศในอนาคต และสร้างโอกาสที่เป็นไปได้มากขึ้นสำหรับนานาประเทศในการเดินทางสู่ดวงจันทร์
อ้างอิง BBC, Unilad และ Space.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส