28 พฤษภาคม วันเว็บ (OneWeb) บริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบรอดแบนด์ได้ปล่อยดาวเทียมที่ผลิตจากโรงงานในรัฐฟลอริด้าประเทศสหรัฐอเมริกาชุดที่ 7 จำนวน 36 ดวงจากท่าอวกาศ Vostochny Cosmodrome ที่อยู่ทางทิศตะวันออกไกลของรัสเซียโดยใช้จรวดโซยุซ (Soyuz) ในเวลา 1:38pm ET (วันที่ 29 เวลา 00:38 ในประเทศไทย)
เมื่อจรวดโซยุซถูกจุดระเบิดแล้วปล่อยขึ้นไปเป็นเวลา 1:58 นาทีก็ได้เข้าใกล้วงโคจรเชิงขั้ว (A polar orbit) ส่วนของบูสเตอร์ได้ถูกแยกออกไป ต่อมานาทีที่ 3:35 ส่วนของ Fairing ที่ใช้สำหรับห่อหุ้มดาวเทียมเพื่อป้องกันผลกระทบจากแรงดันอากาศและความร้อนที่เสียดสีในชั้นบรรยากาศของโลกก็ถูกปลดออก จากนั้นนาทีที่ 4:48 จรวดท่อนที่ 2 ก็แยกออกไป และนาทีที่ 4:52 AFT Section หรือส่วนท้ายของท่อนที่ 3 จะถูกแยกออกไป
เวลานาทีที่ 9:22 จรวดท่อนที่ 3 จะต้องถูกแยกออกไป จากนั้น Fregat ยานขนาดเล็กที่บรรทุกดาวเทียมจะค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปตามวงโคจรแล้วแบ่งปล่อยดาวเทียม 36 ดวงออกมาเป็น 9 ชุดชุดละ 4 ดวง เมื่อปล่อยดาวเทียมครบแล้ว Fregat จะใช้เชื้อเพลิงที่เหลือขับเคลื่อนตัวเองกลับสู่ชั้นบรรายากาศของโลกในเวลาที่ใช้ไปทั้งหมด 4:50:05 ชั่วโมง สุดท้ายดาวเทียมทั้ง 36 ดวงจะได้รับการติดต่อให้เคลื่อนที่ไปสู่วงโคจรที่ถูกต้องของตัวเอง
ภารกิจครั้งที่ 7 วันเว็บสามารถปล่อยดาวเทียมบรอดแบนด์สู่วงโคจรต่ำของโลกได้สำเร็จรวมแล้ว 218 ดวงจากทั้งหมดของแผนที่วางไว้ 648 ดวง เพื่อให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความหน่วงแฝงต่ำครอบคลุมทั่วโลก
ภารกิจนี้เป็นครั้งที่ 4 ใน 5 ของโครงการ ‘Five to 50’ คือการปล่อยดาวเทียม 5 ชุด เพื่อให้รัศมีการให้บริการไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือของละติจูด 50 องศาภายในเดือนมิถุนายน 2021 และจะปกคลุมพื้นที่ของอังกฤษไปจนถึงอลาสก้า ยุโรปทางตอนเหนือ กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ ทะเลอาร์กติก และแคนาดา หรือโซนขั้วโลกเหนือในสิ้นปีนี้ แล้วจะให้บริการทั่วโลกในปี 2022
ที่มา : oneweb
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส