วันพุธที่ 2 มิถุนายน สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และ แอ็กเซียม (Axiom Space) ได้ลงนามข้อตกลงระดับบล็อกบัสเตอร์ในแผนส่งนักท่องเที่ยวอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ด้วยยานดรากอน (Dragon) เพิ่มอีก 3 ภารกิจ คือ Ax-2 – Ax-4 ด้วยกรอบเวลาไปถึงปี 2023 หลังจากที่ได้ลงนามข้อตกลงทริปแรก Ax-1 เมื่อมีนาคม 2020 โดยจะเปิดเที่ยวบินในเดือนมกราคม 2022
มิถุนายน 2019 นาซา (NASA : องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ) ประกาศเปิดสถานีอวกาศนานาชาติให้เอกชนจัดทริปขึ้นไปท่องเที่ยวหรือทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์ที่สามารถทำภารกิจในโครงการ Commercial Crew ของนาซา โดยส่งนักบินอวกาศไปกลับจาก ISS ได้ทั้ง 3 ภารกิจ คือ Demo-2, Crew-1 และ Crew-2 (ไปยังไม่กลับ) ซึ่งตอกย้ำถึงความปลอดภัยที่จะเปิดเที่ยวบินโดยสารอวกาศเชิงพาณิชย์ไปยัง ISS
สเปซเอ็กซ์และแอ็กเซียมได้รับอนุมัติภารกิจแรก Ax-1 จากนาซาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีแผนจะปล่อยยานไม่เกินมกราคม 2022 และ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาได้เปิดตัวภารกิจ AX-2 โดยมีนักบินอวกาศในตำนาน Peggy Whitson เป็นผู้บัญชาการภารกิจและมี John Shoffner แชมป์ GT racer จะมาเป็นลูกค้าของภารกิจและทำหน้าที่เป็นนักบินด้วย ต่อจากนั้นจะมีภารกิจ Ax-3 และ Ax-4 ต่อไป
แอ็กเซียมยังมีแผนการใหญ่ที่จะสร้างสถานีอวกาศเอกชน Axiom Station โดยจะเริ่มต้นจากการสร้างโมดูลของเอกชนเชื่อมต่อกับ ISS ในปี 2024 จากนั้นจะแยกออกมาเป็นสถานีอวกาศเอกชนภายในปี 2028 เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ในระยะยาวต่อไป
สเปซเอ็กซ์เองก็มีแผนในภารกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยร่วมมือกับ Yusaku Maezawa มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและนักสะสมผลงานศิลปะที่จัดทริปพาศิลปินไปท่องเที่ยวดวงจันทร์ในปี 2023 และมีภารกิจ Inspiration4 พานักท่องเที่ยวอวกาศไปสู่วงโคจรของโลกเพื่อสัมผัสประสบการณ์เดินทางชมอวกาศเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้
นอกจากนี้สเปซเอ็กซ์ยังร่วมมือกับ Astrobotic เพื่อใช้จรวด Falcon Heavy ส่งรถสำรวจ Viper ของ NASA ไปดวงจันทร์ และมีแนวโน้มว่าจะได้ใช้ยานสตาร์ชิป (Starship) พามนุษย์กลับลงไปเหยียบบนดวงจันทร์ในโครงการ Artemis นอกจากนี้ได้รับจ้างจากนาซาในการใช้จรวด Falcon Heavy ขนส่งโมดูล PPE และ HALO ไปสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2024 เพื่อประกอบเป็นสถานี Lunar Gateway
สรุปง่าย ๆ ว่าในอนาคตสเปซเอ็กซ์จะสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่การท่องเที่ยวอวกาศ และยังสามารถร่วมขนส่งโมดูลในการประกอบเป็นสถานีอวกาศเอกชนที่จะมีขึ้นได้อีกด้วย
ที่มา : cnet และ axiomspace, ภาพประกอบ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส