เคยมั้ยกำลังเล่านั่นเล่านี่ออกรสชาติให้อีกคนหนึ่งฟัง แน่นอนว่าเวลาเราคุยอะไรกับใครเราก็ต้องมองหน้าสบตากับคู่สนทนา ในขณะที่เขากำลังรับฟังเราแต่บางทีจิตใจเขากำลังล่องลอยไปคิดเรื่องอื่นแล้วก็ได้ แต่เขาก็ยังมองหน้าสบตาเหมือนว่ายังสนใจฟังเราอยู่เพื่อเป็นการรักษามารยาทก็เป็นได้ เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์แนะวิธีสังเกตว่าที่จริงแล้ว คู่สนทนายังตั้งใจสดับรับฟังที่เราจ้ออยู่หรือไม่

ง่าย ๆ ก็เพียงแค่ให้สังเกตที่ดวงตาเขา ถ้าคู่สนทนาเริ่มกะพริบตาถี่ ๆ นั่นแสดงว่าสมาธิ จิตใจ เขาล่องลอยไปคิดเรื่องอื่นแล้ว

นักวิทยาศาสตร์อธิบายหลักการเรื่องนี้แบบง่าย ๆ ว่า การที่มนุษย์เรากะพริบตานั้นจะช่วยสร้างกำแพงบาง ๆ ขึ้นมาปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารจากโลกรอบตัว การค้นคว้าเรื่องนี้ยังพบอีกว่า เมื่อการรับรู้รับฟังเริ่มสะดุดขาดช่วงนั้น เป็นผลมาสมองส่วนที่ประมวลผลข้อมูลข่าวสารจากภายนอกนั้นเริ่มทำงานน้อยลงแล้ว

ดร.แดเนียล สไมเล็ก

ดร.แดเนียล สไมเล็ก (Dr Daniel Smilek) นักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู, แคนาดา ให้ความเห็นไว้ว่า
“เมื่อเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ นั่นแปลว่าร่างกายเริ่มมีปฏิกิริยาหลีกเลี่ยงไมให้สมองรับข้อมูลข่าวสารใด ๆ แล้ว ปฏิกิริยาพื้นฐานง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราก็คือเริ่มปิดดวงตามากขึ้น”

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีในเรื่องนี้ ได้มีการใช้อาสาสมัครจำนวน 15 คน ให้ลองอ่านบทความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมีเซนเซอร์คอยจับความเคลื่อนไหวของลูกตาอยู่ด้วย เซนเซอร์นี้จะคอยบันทึกการกะพริบตา ระหว่างนั้น คอมพิวเตอร์จะส่งเสียง “บี๊บ” เป็นช่วง ๆ ในระยะเวลาไม่เท่ากัน แต่ละครั้งที่เสียงบี๊บดังขึ้น อาสาสมัครจะต้องรายงานว่าพวกเขายังคงมีสมาธิอยู่กับเรื่องที่อ่านอยู่หรือไม่ หรือว่าใจลอยไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ผลการทดลองนี้ยืนยันว่า เมื่ออาสาสมัครไม่ได้สนใจเรื่องที่อ่านอยู่แล้ว พวกเขาจะกะพริบตาถี่ขึ้น

ปิดตาหยุดการรับรู้ข่าวสาร พักสมอง

นอกเหนือจะใช้หลักการนี้จับความสนใจของคู่สนทนาแล้ว ยังช่วยให้เรารู้จักปฏิกิริยาตอบรับของร่างกายเราเองด้วย เมื่อใดที่เราอ่านอะไรอยู่แล้วเริ่มกะพริบตาบ่อยขึ้น แปลว่าเราเริ่มไม่มีสมาธิกับเรื่องที่อ่านแล้ว ในกรณีนี้ ดร.แดเนียล สไมเล็ก แนะนำว่า
“เมื่อจิตใจคุณเริ่มล่องลอยแล้วเราแนะนำให้คุณลองหลับตาลงชั่วขณะ ข้อมูลข่าวสารรอบ ๆ ตัวก็จะเข้าสู่สมองคุณน้อยลง”

จุดสังเกตในเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าคู่สนทนาเริ่มที่จะไม่สนใจฟังเราแล้วแต่ยังรักษามารยาทกับเราอยู่ ก็แปลว่าเราควรเปลี่ยนเรื่องคุยได้แล้ว หรือเปลี่ยนเป็นฝ่ายรับฟังเขาอยู่บ้าง หรือครู อาจารย์ ติวเตอร์ นักพูด ก็คอยสังเกตนักเรียนหรือกลุ่มผู้ฟังว่ายังสนใจที่เราพูดอยู่หรือไม่ จะได้นำมาพัฒนาปรับปรุงแนวทางการสอน การพูดให้น่าสนใจยิ่งขึ้นได้

อ้างอิง