ยอมรับกันเถอะครับว่าเกือบทุกคนเคยเล่นแบบนี้กับน้องแมวมาแล้ว เอาเลเซอร์สีแดงส่องไปตามพื้นเพื่อให้น้องแมววิ่งไล่ตะครุบ ขึ้นผนัง มุดโต๊ะ ไต่หน้าต่าง แมวน้อยแสนซื่อเหล่านี้ไล่จับอย่างสนุกสนาน แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมน้องแมวถึงทำแบบนั้น? มันมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อะไรรึเปล่าที่จะทำให้เราเข้าใจเจ้าขนฟูที่บ้านมากขึ้น ทำไมแมวต้องไล่ตามจุดแดง ๆ ทั้งที่รู้ว่ามันไม่มีชีวิต แถมดูยังไงมันก็ไม่น่าจะกินได้ คำตอบที่ได้แสดงให้เห็นบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะถ้ามองลึกในรายละเอียดแล้ว มนุษย์เราก็อาจจะไม่ต่างกับแมวสักเท่าไหร่ บางครั้งเราเห็นการเคลื่อนไหวของคน ความตั้งใจและอารมณ์ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของรูปทรงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตได้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก่อนอื่น… ไปเข้าใจน้องแมวกันก่อน
อย่างแรกที่เราต้องรู้จักคือ จอประสาทตา (Retina) ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านในสุดและหลังสุดของดวงตา มันทำหน้าที่เปลี่ยนแสงที่มองเห็นให้กลายเป็นสัญญาณประสาทเพื่อแปลผลในสมอง โดยจอประสาทตาประกอบด้วย เซลล์ประสาทตา 2 ชนิดคือ เซลล์รูปกรวย (Cone Cells) กับเซลล์รูปแท่ง (Rod Cells) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้พบได้ทั้งในแมวและมนุษย์เช่นกัน หน้าที่ของเซลล์รูปกรวยนั้นจะอยู่ที่การมองเห็นสีและโฟกัสไปที่รายละเอียด ส่วนเซลล์รูปแท่งนั้นจะรับผิดชอบการมองเห็นในสถานการณ์ที่แสงน้อยเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว
เราน่าจะพอเดาได้ว่ามนุษย์มีเซลล์รูปกรวยมากกว่าแมว แต่ในทางกลับกัน แมวมีเซลล์รูปแท่งมากกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นตาของแมวนั้นสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ดีกว่า แม้ว่าตอนนั้นทัศนวิสัยอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ แลกกับการมองรายละเอียดหรือสีอาจจะไม่ค่อยเด่นสักเท่าไหร่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าตาของน้องแมวนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสในการจับเหยื่อที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือเช้าตรู่ที่พวกเขาออกหาอาหาร เมื่อเราเข้าใจจุดนี้ว่าตาของน้องแมวนั้นเห็นสีไม่ชัด เพราะฉะนั้นสีของเลเซอร์ไม่น่าเป็นปัจจัยที่ทำให้แมววิ่งไล่ตะครุบ แต่สิ่งที่ล่อตาล่อใจของแมวก็คือ “การเคลื่อนไหว” ของเจ้าจุดเลเซอร์ต่างหาก วิ่งไปตรงนี้ หยุด ขยับ ๆ วิ่งต่อ เด้งไปอีกทาง ซึ่งมันเป็นการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเหยื่อที่ทำให้สัญชาตญาณนักล่าภายในตัวแมวนั้นปะทุจนยากจะหักห้ามใจได้
การเคลื่อนไหวแบบนี้ไปกระตุ้นกระบวนการล่าอาหารที่ฝังอยู่ในร่างกายขนปุย ซึ่งก็คือการติดตาม ตะครุบ ฆ่า และกิน แม้ว่าตอนนี้การอยู่รอดของพวกมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าล่าได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตรงนี้เราก็เห็นแล้วว่าการเล่นกับน้องแมวบางตัวโดยใช้เลเซอร์นั้นบางทีทำให้มันหงุดหงิดได้ เพราะกระบวนการล่าเหยื่อทั้งหมดหยุดลงกลางคัน น้องแมวได้แค่วิ่งตามและตะครุบ ไม่ได้ฆ่าหรือกินด้วย เพราะฉะนั้นถ้าอยากหาอะไรที่ทำให้น้องแมวเล่นสนุกกว่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเบ็ดตกแมวที่ห้อยตุ๊กตาเล็ก ๆ หรือขนนก ไล่ไปตามพื้น ให้น้องแมวตามตะครุบ กัด (ฆ่า) และเราก็ยื่นขนมให้เล็กน้อยตอนสุดท้าย (กิน) เพื่อทำให้การเล่นกันสนุกมากขึ้น
แล้วสำหรับมนุษย์เราล่ะ? เราเป็นแบบนี้จริงเหรอ?
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นได้ไขข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวแบบไหนที่ทำให้เข้าใจถึงการมีชีวิตหรือเหมือนมีชีวิตอยู่ งานวิจัยของ พาทริซ ทรีมูเล็ต (Patrice D. Tremoulet) และ เจคอบ ฟิลด์แมน (Jacob Feldman) บอกว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ ของเส้นทางและความเร็วของมันต่างหากที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีชีวิต น้องแมววิ่งไล่เจ้าจุดเลเซอร์เพราะมันขยับไปมาอย่างรวดเร็ว มันต้องมีชีวิตแน่นอน มันจะอร่อยหรือเปล่านะ ลองจับมาเข้าปากดูดีกว่า
ในปี 2010 มีบทความทางวิชาการอีกชิ้นหนึ่งที่ลงในเว็บไซต์ PubMed ที่พบว่าการเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้ก็ดึงดูดความสนใจของมนุษย์เช่นเดียวกัน แม้ว่าเราอาจจะไม่รู้เลยว่ามันกำลังเกิดขึ้น ในการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยเอาผู้เข้าทดลองมานั่งมองหน้าจอที่มีจุดหลายจุดกำลังเคลื่อนที่ไปมา แล้วถ้าเกิดเห็นจุดหนึ่งหายไปให้รายงานทันที จุดส่วนใหญ่ก็ลอยไปลอยมา ชนขอบก็เด้งเข้ามา ชนกันก็เด้งไปคนละทาง แต่จะมีบางครั้งที่จุดหนึ่งในนั้นจะเปลี่ยนเส้นทางและความเร็ว โดยไม่โดนอะไรเลย เมื่อจุดนั้นหายไปคนจะสังเกตเห็นทันที มากกว่าที่จุดอื่น ๆ ที่ลอยไปลอยมาแล้วหายไป การเคลื่อนที่แบบนี้จะดึงดูดความสนใจของเรา สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าคนที่เข้าร่วมการทดลองไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าบางทีมันเปลี่ยนแปลงเส้นทางหรือความเร็ว เพราะฉะนั้นจุดที่เคลื่อนที่แบบนี้ก็สามารถทำให้เข้าใจว่ามันมีชีวิตและดึงดูดความสนใจของเราได้ทันที
ต่อมามีการทดลองที่ซับซ้อนเข้าไปอีกว่า ถ้าเกิดมันไม่ใช่แค่จุดเดียวล่ะ? เป็นกลุ่มก้อนสามารถทำให้มันดูมีชีวิตได้ไหม ทีนี้ก็มีงานวิจัยอีกอันหนึ่งที่ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมหลายอันแทนฝูงหมาป่าโดยมีจุดกลม ๆ อันหนึ่งที่เป็นเสมือนเหยื่ออย่างเช่น แกะ พวกเขาเริ่มต้นโดยการให้สามเหลี่ยมและวงกลมขยับไปมา หลังจากนั้นก็ค่อยขับให้สามเหลี่ยมชี้ไปยังวงกลมทีละอัน ทีละอัน ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองเข้าใจได้ทันทีเลยว่าตอนนี้ฝูงสามเหลี่ยมท่ีเป็นเหมือนหมาป่ากำลังจ้องไปที่เหยื่อ และมองว่ามันมีชีวิตในทันที (เรียกว่า Wolfpack Effect)
ก่อนหน้านั้นก็มีอีกงานทดลองหนึ่งที่ทำในช่วงปี 70s โดย กันนาร์ โจฮานส์สัน (Gunnar Johansson) ที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มจุดหลายอันให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตได้ โดยเขาทำการทดลองโดยใช้การติดไฟตามข้อต่อต่าง ๆ ของมนุษย์ (ศีรษะ หัวไหล่ ศอก สะโพก เอว หัวเข่า ข้อมือ และข้อเท้า แล้วหลังจากนั้นก็ปรับแสงให้เราเห็นแค่ไฟที่ติดตามจุดต่าง ๆ เมื่อเรามองแค่เฟรมหนึ่ง หรือภาพนิ่งของจุดต่าง ๆ เหล่านี้ ตาของมนุษย์จะยังเดาไม่ออกว่ามันคืออะไร อาจจะเป็นต้นไม้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเริ่มขยับ สมองเราจะสร้างภาพของมนุษย์ขึ้นมาในหัวโดยอัตโนมัติ (ลองเล่นอันนี้ดูครับ BioMotionLab)
คำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ซับซ้อน สมองของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าการเคลื่อนไหวแบบไหนเป็นการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต เราก็ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ต้องอาศัยการเอาตัวรอดในธรรมชาติหลายหมื่นปีก่อน สมองเราให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวแบบนี้ อาจจะเป็นเหยื่อหรือศัตรูที่กำลังจะเข้ามาทำร้าย
มีวิดีโออันหนึ่งที่ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1944 โดย ฟริตซ์ ไฮเดอร์ (Fritz Heider) และ แมเรียนน์ ซิมเมิล (Marianne Simmel) (YouTube) ที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์นั้นไม่ได้แค่เห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ว่ามันมีชีวิตเพียงเท่านั้น เรายังสามารถบอกเล่าเรื่องราว สิ่งที่เกิดขึ้น ความต้องการและอารมณ์จากการเคลื่อนไหวนั้นได้อีกด้วย (อย่างที่เราสังเกตเห็นสามเหลี่ยมค่อย ๆ หันไปชี้วงกลมนั่นแหละ) ถ้าดูในวิดีโอของไฮเดอร์และซิมเมิล เราจะเห็นได้ว่าสามเหลี่ยมอันใหญ่นั้นกำลังฉุนเฉียว อาจจะไม่พอใจอะไรสักอย่างกับสามเหลี่ยมเล็กและวงกลม ออกมาโวยวาย วิ่งไล่ โมโหกันยกใหญ่
งานวิจัยเหล่านี้เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่าระบบการรับรู้ของมนุษย์นั้นพร้อมที่จะมองเห็นการเคลื่อนไหวเหล่านี้ อะไรก็ตามที่ขยับจะทำให้เราสนใจทันที เราสามารถสอดใส่ความต้องการและอารมณ์เข้าไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้กลายเป็นดาบสองคมที่โซเชียลมีเดียหรือพวกแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ทำคือการดึงความสนใจของเราด้วยวิดีโอหรือภาพวิบวับ ๆ ที่เคลื่อนไหวไปมา เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่า “เราก็ไม่ต่างจากน้องแมวที่กำลังไล่ตะครุบเลเซอร์อยู่” ก็คงจะไม่ผิดเท่าไหร่นัก
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
เครดิตภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส