เกษตรกรซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองอิสเมอิลีอา (Ismailia) ของอียิปต์บังเอิญค้นพบแผ่นศิลาจารึกอักษรโบราณที่สร้างขึ้นโดยฟาโรห์เอพรีส์ (Apries) ซึ่งปกครองอียิปต์ในช่วง 589 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 570 ปีก่อนคริสตกาล
ห่างออกไป 100 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองไคโร เกษตรกรคนดังกล่าวค้นพบแผ่นศิลาจารึกทำจากหินทรายในระหว่างการเตรียมดินเพื่อทำไร่ จากนั้นจึงติดต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณคดีของประเทศอียิปต์ (Ministry of Tourism and Antiquities) เกี่ยวกับการค้นพบของเขา โดยพบว่า แผ่นศิลาจารึกดังกล่าวมีความสูงถึง 230 เซนติเมตร กว้าง 103 เซนติเมตร และหนา 45 เซนติเมตร
บริเวณด้านบนของแผ่นศิลาพบรอยแกะสลักดวงอาทิตย์ ที่มีความหมายเกี่ยวข้องถึงเทพเจ้าอามอน-รา เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ในตำนานเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์ของอียิปต์ และคาร์ทูช (cartouche) ของฟาโรห์เอพรีส์ หรือตัวอักษรอียิปต์โบราณที่ใช้บ่งบอกถึงชื่อกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของของสิ่งนั้น ๆ
ตัวอักษรที่สลักด้านล่างเป็นข้อความกล่าวถึงฟาโรห์เอพรีส์ ซึ่งปกครองในราชวงศ์ที่ 26 ของอียิปต์ (688 B.C. – 525 B.C.) เมื่อตอนที่อียิปต์ยังคงเป็นอิสระและมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองไซส์ (Sais) ทางด้านเหนือของอียิปต์
ณ ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอียิปต์กำลังพยายามถอดข้อความทั้งหมดในศิลาจารึก โดยเลขาธิการสภาสูงสุดด้านโบราณวัตถุได้ออกมาอธิบายว่า เนื้อหาของศิลาจารึกนั้นเกี่ยวข้องกับการทหารในยุคของฟาโรห์เอพรีส์
ตามประวัติศาสตร์กรีกโบราณกล่าวว่า ฟาโรห์เอพรีส์ทำสงครามชาวฟินิเซียน (Phoenician) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์กลุ่มเซเมติกเช่นเดียวกับชาวฮิบรูว์ และชาวอาหรับ และแพ้สงคราม ทำให้มีทหารล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงนำมาสู่การก่อสงครามกลางเมืองในอียิปต์ (Civil War) จนท้ายที่สุดฟาโรห์เอพรีส์ก็ถูกฆ่าตาย และมีการแต่งตั้งฟาโรห์องค์ใหม่ชื่อ อเมซิส (Amasis) ขึ้นมาปกครองแทน
อ้างอิง: Live Science
อ้างอิงรูปภาพ: Elwatan News
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส