เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัว ได้เผยภาพจากศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ผลงานของยานสำรวจจู้หรง แสดงให้เห็นภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยหิน ดิน ทรายบนดาวอังคาร ที่ยานสำรวจเดินทางผ่านมาในช่วง 54 วันดาวอังคารที่ผ่านมาอย่างละเอียด

ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า จู้หรงยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีน เดินทางบนพื้นผิวดาวเคราะห์แดงคิดเป็นระยะทางมากกว่า 300 เมตร และจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่าน ก็ได้ทำงานบนพื้นผิวดาวอังคารนาน 54 วันดาวอังคารแล้ว (หนึ่งวันบนดาวอังคารมีระยะเวลานานกว่าหนึ่งวันบนโลกราว 40 นาที)

ยานสำรวจจู้หรง (อ่านความหมายของชื่อยานได้ที่นี่) เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจเทียนเวิ่น-1 ของจีน ซึ่งเริ่มออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ต่อมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ยานลงจอดก็ได้บรรทุกยานสำรวจพื้นผิว ลงจอดบริเวณด้านใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย ที่ราบขนาดมหึมาในขั้วเหนือของดาวอังคาร

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2021 จู้หรง ก็ขับเคลื่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร และเริ่มต้นการสำรวจดาวเคราะห์แดง ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดและควบคุมยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารสำเร็จ

สำหรับภาพถ่ายประจำบทความทางด้านบนนี้เป็นภาพเซลฟี จู้หรงยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน กับแพลตฟอร์มที่ใช้ลงจอดบนดาวอังคาร และนับตั้งแต่ลงจอดบนดาวอังคาร จู้หรงก็เดินทางสู่ทิศใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบและสำรวจด้วยกล้องบันทึกภาพทางภูมิศาสตร์ เรดาร์ตรวจใต้พื้นผิว เครื่องมือวัดทางอุตุนิยมวิทยา และเครื่องตรวจจับสนามแม่เหล็กบนพื้นผิว

เครื่องตรวจจับองค์ประกอบบนพื้นผิวและกล้องบันทึกภาพมัลติสเปกตรัมจะทำการตรวจจับแบบเฉพาะจุด หากพบเจอลักษณะพื้นผิวที่มีความโดดเด่นอย่างก้อนหินและเนินทราย

ภาพถ่ายก้อนหินบนดาวอังคารสองภาพเผยให้เห็นคุณลักษณะพื้นผิวของก้อนหินที่บางส่วนถูกปกคลุมด้วยฝุ่น และร่องรอยการเดินทางของจู้หรง

วันที่ 4 ก.ค. นับเป็นวันที่ 50 บนดาวอังคารของจู้หรง ซึ่งเดินทางไปยังด้านใต้ของเนินทรายแดงที่มีความกว้าง 8 เมตร ความยาวราว 40 เมตร และความสูง 0.6 เมตร

ภาพถ่ายภาพด้านบนนี้เผยให้เห็นกลุ่มก้อนหินหลายรูปทรง รวมถึงส่วนห่อหุ้มด้านหลังและร่มชะลอความเร็วของยานลงจอด โดยจู้หรงบันทึกภาพนี้ขณะอยู่ห่างจากจุดลงจอดราว 210 เมตร และจากจุดที่ตั้งของส่วนห่อหุ้มและร่มดังกล่าวราว 130 เมตร

สำหรับภาพนี้คือภาพถ่ายเนินทรายแดงบนดาวอังคารที่ดูโดดเด่นแตกต่างจากพื้นผิวโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบัน ยานสำรวจจู้หรงยังคงเดินทางสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารต่อไป ไม่แน่ว่า เราอาจจะได้เห็นภาพภูมิทัศน์ที่น่าตื่นตายิ่งกว่าเดิม หรือพบสิ่งแปลกใหม่บนดาวอังคารหรือไม่ก็ได้

อ้างอิง
Xinhua

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส