ศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊ก ทำการปลูกถ่ายหัวใจเทียม (TAH) ให้กับชายวัย 39 ปีได้สำเร็จ ซึ่งชายคนดังกล่าวเคยมีอาการหัวใจล้มเหลวกะทันหันมาก่อน ซึ่งหัวใจเทียม TAH จะมีการทำงานเลียนแบบหัวใจของมนุษย์ ซึ่งจะแตกต่างจากหัวใจเทียมทั่วไปและช่วยให้ผู้ป่วยมีอิสระมากขึ้นหลังการผ่าตัดด้วย
หัวใจเทียม TAH พัฒนาโดยบริษัทฝรั่งเศสชื่อคาร์มาต์ (CARMAT) ตัวหัวใจประกอบไปด้วยหัวใจห้องล่าง 2 ห้องและลิ้นหัวใจชีวภาพ 4 ช่อง พร้อมกับการออกแบบให้คล้ายกับหัวใจของมนุษย์
นอกจากนี้หัวใจจะถูกสูบไปใช้งานในร่างกาย โดยใช้ไมโครปั๊มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยตามที่กำหนดด้วยเซนเซอร์และไมโครโปรเซสเซอร์บนหัวใจ ส่วนการปั๊มออกจะมีการปั๊มออก 2 ช่องทาง โดยเชื่อมต่อหัวใจเทียมกับหลอดเลือดแดงใหญ่ แบบเดียวกับหลอดเลือดแดงในปอดที่นำเลือดไปยังปอดเพื่อให้ออกซิเจน
สำหรับผู้ป่วยคนนี้ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจล้มเหลวกะทันหันและต้องรับการผ่าตัดบายพาสอย่างด่วน แต่อาการของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาไม่เหมาะที่จะปลูกถ่ายหัวใจแบบปกติ ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊กจึงทดสอบหัวใจเทียมดวงนี้กับผู้ป่วย ซึ่งได้รับการอนุมัติเบื้องต้นจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยทางโรงพยาบาลจะทำการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งหัวใจเทียมจะมีระบบที่เชื่อมต่อไว้กับ Hospital Care Console (HCC) เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของหัวใจได้ แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งคือผู้ป่วยจำเป็นต้องพกกระเป๋าหนักเกือบ 4 กิโลกรัม ไปด้วยทุกที่ เพราะมันจะเป็นกระเป๋าเอาไว้เก็บตัวควบคุมและชุดแบตเตอรี่ 2 ก้อน ซึ่งเอาไว้ชาร์จแบตให้กับหัวใจและใช้งานได้ประมาณ 4 ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส