Tokyo Olympics 2020 กำลังจะรูดม่านปิดฉากลง โดยไทยเราได้ไปหนึ่งเหรียญทองจากกีฬาเทควันโดหญิง และหนึ่งเหรียญทองแดงจากมวยสากลสมัครเล่นหญิง ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนอยู่ไม่น้อย เพราะนี่คือเวทีการแข่งขันระดับโลกที่กว่านักกีฬาเหล่านี้จะสามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อเข้าไปแข่งขันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สภาพร่างกายและจิตใจต้องแข็งแกร่ง ผ่านการเตรียมพร้อมและซ้อมอย่างหนักหน่วงมาหลายต่อหลายปีกว่าจะมายืนบนเวทีนี้ได้
แต่นอกเหนือจากเกมกีฬาที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพยายามเร่งพัฒนาไปพร้อมกับวงการกีฬา นั่นคือเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มสมรรถภาพมากยิ่งขึ้น การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ที่ญี่ปุ่นก็ไม่ต่างกัน นอกจากมันเป็นการแข่งขันของนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแล้ว มันเป็นเวทีที่เหล่าโค้ช นักวิทยาศาสตร์ และนักวิเคราะห์ข้อมูลต่างทั้งหลายต่างที่จะได้เห็นผลลัพธ์ของเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ได้ใช้กับนักกีฬาจากประเทศของตนเองว่ามันได้ผลมากขนาดไหน เพิ่มโอกาสในการคว้าเหรียญทองมาครองได้เยอะขึ้นไหม
เทคโนโลยีเหล่านี้มีตั้งแต่เซนเซอร์ที่สามารถติดตามทุกสโตรกของนักกีฬาว่ายน้ำ แว่นตาแบบสวมที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลการเต้นของหัวใจและตัวเลขค่าต่าง ๆ ของนักปั่น ระบบวิเคราะห์วีดีโอเพื่อจะปรับฟอร์มการพุ่งลงน้ำให้ดีที่สุดสำหรับนักกีฬาแต่ละคน ลู่วิ่งแบบต้านแรงโน้มถ่วงที่สามารถฝึกให้พวกเขาวิ่งได้เร็วขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ จักรยานที่ปั่นในร่มที่มีเซนเซอร์ติดตรงบันไดปั่นจักรยานเพื่อวัดความแรงถีบของนักปั่นและเครื่องวัดอัตราการหายใจ ออกซิเจน ที่เปลี่ยนแปลงตามความเข้มข้นของการออกกำลังกายในแต่ละครั้ง ไปจนกระทั่งอุปกรณ์ที่ไฮเทคไปกว่านั้นอย่างโค้ชที่เป็น AI หรือรองเท้านักมวยที่สร้างขึ้นมาด้วยแม่พิมพ์แบบ 3มิติสำหรับนักชกคนนั้นโดยเฉพาะอีกด้วย
ดอกเตอร์ เอเมีย เมียรส์ (Dr. Aimee Mears) อาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีการกีฬาของมหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough University’s Sports Technology Institute) ในอังกฤษ บอกว่า “วิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการเตรียมพร้อมของนักกีฬาโอลิมปิก ประเทศและหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องเกี่ยวกับกีฬานั้นจะพยายามจัดหาเทคโนโลยีเกี่ยวกับกีฬาเหล่านี้มาเพื่อจะให้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้กับนักกีฬาโอลิมปิก”
บทความหนึ่งที่เขียนบนเว็บไซต์ The Conversation โดย จอห์น บาร์เดน (John Barden) ศาสตราจารย์ด้านชีวกลศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเรจินาในแคนาดา แสดงความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable Technology) ว่ามันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการฝึกซ้อมของนักกีฬา
“เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้เป็นประโยชน์อย่างมากในการติดตามนักกีฬาตอนที่สนามซ้อมถูกปิดเพราะโรคระบาด ประโยชน์ที่ชัดเจนข้อหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือความสามารถในการให้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยกตัวอย่างตัวเซนเซอร์ที่วางไว้ในรองเท้า บูทที่ใส่เล่นสกี หรือที่บันไดปั่นจักรยานสามารถให้ข้อมูลที่ต่อเนื่องในระหว่างการฝึกแต่ละครั้ง”
ทีมวอลเลย์บอลเคนยา คือหนึ่งในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีนี้ เซนเซอร์จะจับความแข็งแรง อัตราการเต้นของหัวใจ และสัญญาณทางร่างกายอีกหลายอย่างเพื่อส่งให้โค้ชนำไปปรับการซ้อมที่เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละตำแหน่งลดอาการบาดเจ็บและดึงสมรรถภาพของแต่ละคนออกมาให้มากที่สุด บริษัทแทรกแมน (Trackman) จากเดนมาร์กใช้เทคโนโลยีเรดาร์เพื่อช่วยวิเคราะห์การขว้างลูกเบสบอลของพิชเชอร์หรือการเหวี่ยงไม้ตีลูกเบสบอลว่าเป็นยังไงบ้าง บ่งบอกความเร็ว ทิศทาง องศา ความแม่นยำ (ซึ่งที่จริงเทคโนโลยีเรดาร์ก็สามารถใช้กับกีฬาชนิดอื่นอย่างการวิ่งเพื่อวัดความเร็วในการออกตัวและจังหวะเร่งได้ด้วย) บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตชิประดับโลกอย่าง Intel ใช้ระบบการติดตามนักกีฬาแบบ 3มิติที่ชื่อว่า 3DAT ที่สามารถส่งข้อมูลของนักกีฬาให้กับโค้ชได้แบบเรียลไทม์ สมมุติว่าในกีฬาประเภทวิ่งแข่ง โค้ชสามารถเห็นได้เลยว่าช่วงไหนที่นักกีฬาเร่งสปีด ผ่อนแรง ไปเร็วไปช้าและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหลายด้วย AI ว่าส่วนไหนของร่างกายเคลื่อนไหวยังไง ระบบนี้ทำให้โค้ชสามารถปรับแต่งการฝึกและสร้างฟอร์มการวิ่งที่ถูกต้องให้กับนักกีฬาคนนั้นด้วย
นอกจากเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการกีฬาแล้ว แบรนด์กีฬาชื่อดังหลายแบรนด์ก็เร่งพัฒนานวัตกรรมล่าสุดเพื่อใส่ในเสื้อผ้าและอุปกรณ์เพื่อยกระดับสมรรถนะของนักกีฬาที่สวมใส่ด้วย พูดกันแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือนวัตกรรมเรื่องโครงสร้าง ชนิดของเนื้อผ้า และวัสดุสามารถสร้างความแตกต่างได้ในการแข่งขันที่ทุกอย่างเชือดเฉือนกันในเสี้ยววินาที มันกลายเป็น “Unfair Competitive Advantage” หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมสักเท่าไหร่ มีหลายต่อหลายครั้งที่เราได้เห็นข่าวเรื่องของนักกีฬาที่ใช้รองเท้าหรือเครื่องแต่งกายที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมจนถูกมองว่าเป็น “Technological Doping” หรือการโด๊ปทางเทคโนโลยี โดยคำนี้ถูกพูดถึงจากการแข่งขันปั่นจักรยาน Tour of Flanders ในปี 2010 ที่ ฟาเบียง คันเซลลารา นักปั่นคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ามีมอเตอร์ซ่อนเอาไว้เพื่อช่วยผ่อนแรงในการปั่นจักรยาน (ในข่าวเรียกว่า ‘Doped Bike’) แต่ข่าวที่น่าจะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นอาจจะต้องย้อนกลับไปอีกหน่อยตอนเปิดตัวชุดว่ายน้ำสไตล์บอดี้สูทของ Speedo ชื่อ LZR Racer ที่ออกแบบร่วมกันกับองค์กรระดับโลกอย่าง NASA
ตอนนี้หลายคนอาจจะงงว่าทั้งสองบริษัทนี้มาพาร์ตเนอร์กันได้ยังไง เพราะมันเหมือนอยู่คนละที่คนละทางกันเลยทีเดียว ใครจะไปคิดว่าทั้งคู่มีศัตรูคนเดียวกันนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าแรงต้าน (drag) นั้นเอง ระหว่างที่นักกีฬากำลังว่ายน้ำแรงต้านจะให้พวกเขาช้าลงเหมือนกับที่อากาศทำกับรถแข่ง เพราะฉะนั้นการทำให้มันเพรียวลมที่สุดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น วัสดุที่ Speedo เลือกใช้มีชื่อเรียกว่า LZR Pulse ที่ช่วยลดแรงต้าน แถมยังป้องกันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและน้ำหนักเบามาก หลังจากที่ลองแล้วลองอีกหลายต่อหลายครั้ง เย็บด้วยคลื่นอัลตราโซนิกจนแทบไม่เห็นตะเข็บ ผลลัพธ์คือชุดว่ายน้ำที่ลดแรงต้านได้ถึง 24% เมื่อเทียบกับชุดว่ายน้ำรุ่นก่อน
ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่ง มีการทำลายสถิติเกิดขึ้น 65 ครั้ง โดย 25 ครั้งเป็นการทำลายสถิติโลก และ 23 ใน 25 คนนั้นใช้ LZR Racer ซึ่งต่อมาภายหลังสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติต้องมาออกกฎใหม่ว่าชุดว่ายน้ำชายสวมใส่ได้แค่เอวถึงหัวเข่า ส่วนผู้หญิงตั้งแต่หัวไหล่ถึงเข่า และวัสดุที่ใช้ต้องเป็นสิ่งทอ (textile) เท่านั้น ซึ่งหลายคนก็เชื่อว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพื่อให้นักกีฬานั้นไปโฟกัสที่การฝึกฝนและการแข่งขันมากกว่าการตัดสินใจว่าต้องใช้ชุดว่ายน้ำชุดไหนถึงจะชนะ
หรืออย่างล่าสุดเราก็จะเห็นเรื่องรองเท้า Nike ZoomX Vaporfly 4% ที่เปิดตัวในปี 2017 ซึ่งกลายมาเป็นรองเท้าวิ่งที่มักถูกเลือกใช้ในนักวิ่ง โดย Nike บอกว่ารองเท้ารุ่นนี้สามารถลดแรงที่จะใช้ในการวิ่งได้ถึง 4% เมื่อเทียบกับรองเท้าวิ่งมาราธอนแบบอื่น
เทคโนโลยีเหล่านี้แน่นอนว่ามันเป็นการแสดงถึงศักยภาพของนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เพิ่มศักยภาพของนักกีฬาให้ก้าวข้ามขีดที่เคยสร้างเอาไว้ แต่มันก็ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันรึเปล่า ยกตัวอย่างรองเท้า Nike ZoomX Vaporfly Next% ที่นักวิ่งมาราธอนส่วนใหญ่เลือกใช้ในโอลิมปิกครั้งนี้เพราะมีโฟมค่อนข้างหนา และมีแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่ช่วยเพิ่มแรงในการก้าวไปข้างหน้าของนักวิ่งได้อย่างดี
เทคโนโลยีนับวันยิ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาติ/ทีมที่มีเงินทุนและสปอนเซอร์กระเป๋าหนักกับกลุ่มที่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนาหรือไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีโอกาสที่จะทำลายความตั้งใจของนักกีฬาที่ไม่มีข้อได้เปรียบเหล่านี้ว่าตัวเองเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มก้าวลงสนามแข่งด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องน่าเสียใจเพราะจุดมุ่งหมายหลักอย่างหนึ่งของการแข่งกีฬาคือความเสมอภาคและเท่าเทียม แข่งกันด้วยความสามารถและวินัยจากการฝึกฝน ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีให้ตัวเองมีความได้เปรียบเพียงแค่เพื่อล่าเหรียญทอง เมื่อไหร่ก็ตามที่เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเพียงกระจกสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันของสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วกับที่ยังด้อยพัฒนา การแข่งขันกีฬาก็แทบไม่มีประโยชน์ในตัวมันเองอีกต่อไป มันจะกลายเป็นเพียงเวทีแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีของประเทศอันมั่งคั่งให้โลกได้เห็นเท่านั้น
การจะสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันกีฬานั้นต้องอาศัยการวางกฎเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีว่าแบบไหนที่สามารถใช้ได้และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เอื้อโอกาสที่จะชนะให้กับประเทศใดประเทศที่ร่ำรวยกว่าและล้ำหน้ากว่าในเรื่องของนวัตกรรม
แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในการแข่งขันกีฬา ไม่ใช่แค่ทำให้มันดีขึ้น สนุกขึ้น สำหรับผู้รับชมเท่านั้น อย่างการถ่ายทอดสดหรือสถิติต่าง ๆ ที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำเสนอได้ แต่มันยังทำให้การแข่งขันกีฬานั้นปลอดภัย การตัดสินที่มีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการกีฬานั้นก็คือว่ามัน “อาจจะ” ทำให้เป้าหมายในการแข่งขันกีฬาที่เคยขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่สวยงามอย่างหัวใจของความเป็นนักกีฬานั้นเลือนหายไปด้วยรึเปล่า และเมื่อไหร่ก็ตามถ้ามันเข้าไปเกี่ยวข้องและดัดแปลงอุปกรณ์ เสื้อผ้า หรือแม้แต่การซ้อมที่สร้างความได้เปรียบบางอย่างเพื่อลงแข่งล่าเหรียญรางวัล มันก็จะกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ หรือถ้าเกิดขึ้นควรถึงจุดไหนกันแน่
การแข่งขันอย่างเท่าเทียมเสมอภาคเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะในเกมกีฬา มันเป็นความหวังและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่สำหรับทุกคนที่ได้ชม มันสร้างความเชื่อ ความฮึกเหิม และความฝันว่าเมื่อคุณตั้งใจและฝึกฝนอย่างหนัก สักวันคุณจะมีโอกาสเป็นหนึ่งในผู้ชนะได้เหมือนกัน แต่ถึงแม้จะแพ้ ก็ยังภูมิใจว่าแพ้ให้กับคนที่เก่งกว่าจริง ๆ เพราะการแข่งขันที่แฟร์ ไม่ใช่เพราะอีกฝั่งมีข้อได้เปรียบบางอย่างที่คุณไม่มีโอกาสแม้จะเข้าถึงได้
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5
อ้างอิง 6 อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส