แฟชั่นเปลี่ยนไปเร็วมาก ยิ่งเทคโนโลยีรุดหน้าไปเท่าไหร่ กระแสความนิยมก็วิ่งตามไปแบบไม่รู้ตัว ในยุคหนึ่งกระแส ‘ริงโทน’ หรือ ‘เสียงเรียกเข้า’ เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนพากันหาริงโทนที่แปลกใหม่ แตกต่าง ทั้งเอาไว้อวดกันและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพลงที่ออกใหม่ยังต้องตัดเป็นเวอร์ชันริงโทนเพื่อออกขาย แต่ในวันนี้แฟชันตั้งเสียงเรียกเข้า กลายเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มวัยกลางคน ช่วงบูมสุดของริงโทนคือช่วงปลายยุค 90s ไปจนถึงต้นยุค 2000s แล้วความนิยมก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหตุหนึ่งก็เพราะการเข้ามาของสมาร์ตโฟนที่พัฒนาช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ แทนการโทรด้วยเสียงแบบเดิม

ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดยังกล่าวว่า ริงโทนจะกลายเป็นแฟชันตกยุคในเร็ว ๆ นี้ เพราะวัยรุ่นตั้งแต่ 16 – 24 ปีในยุคนี้กลับเลือกที่จะพิมพ์ข้อความสนทนากันผ่านแอปเป็นหลัก และปิดเสียงเรียกเข้า นักวิจัยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Generation Mute” ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็น 2 เท่า เขาเหล่านี้ให้เหุตผลว่าพอใจที่จะใช้การส่งข้อความมากกว่าการโทรคุยด้วยเสียง

เด็กรุ่นใหม่ แอบใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน จึงเลือกปิดเสียงเงียบ

มีรายงานจากอังกฤษว่า กระแสความนิยมริงโทนเริ่มเสื่อมถอยมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว นักวิเคราะห์ฟันธงว่า คนหนุ่มสาวพอใจที่จะปิดเสียงเรียกเข้าในโทรศัพท์มือถือ นั่นก็เพราะเขาเหล่านี้ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์แทบจะตลอดเวลา พอใครโทรมาก็เห็นอยู่ดี เสียงเรียกเข้าจึงไม่จำเป็น อีกเหตุผลหนึ่งคือกลุ่มวัยรุ่นที่ยังอยู่ในวัยเรียนนั้น มักจะแอบใช้มือถือในห้องเรียน หรือแอบคุยกับเพื่อนเวลาอยู่ที่บ้าน การพิมพ์ข้อความคุยกันผ่านแอป จึงปลอดภัยสำหรับพวกเขา ไม่ต้องโดนพ่อแม่เงี่ยหูฟังเวลาโทรคุย

Smartwatch อีกหนึ่งตัวแปร ให้คนเลิกสนใจใช้ริงโทน

อีกเทรนด์หนึ่งที่เข้ามาเบียดบังความนิยมของริงโทนก็คือการเข้ามาของ wearable tech (เทคโนโลยีแบบสวมใส่ได้) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงจะชอบใส่อุปกรณ์ฟิตเนสอย่างเช่น Apple Watches หรือ Fitbits และอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำงานควบคู่กับสมาร์ตโฟนได้ พวกเขาจึงไม่ต้องการเสียงเรียกเข้าจากโทรศัพท์ แต่ตั้งให้สั่นแทน แล้วก็เคาะไปที่นาฬิกาเพื่อดูข้อความหรือว่าใครโทรเข้ามา

มารยาททางสังคม ไม่เปิดเสียงเรียกเข้าในที่สาธารณะ

เออร์เนสต์ โดคู (Ernest Doku) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม ให้อีกเหตุผลหนึ่งของการเสื่อมความนิยมในแฟชันเสียงเรียกเข้าว่า มาจากมารยาททางสังคม ที่อังกฤษกำลังเจริญรอยตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมองว่าการปล่อยเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ดังในที่สาธารณะนั้นเป็นมารยาทสังคมที่ไม่งาม บรรดานักท่องเที่ยวที่เข้าไปในญี่ปุ่น เวลาเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้เปิดระบบสั่นในโทรศัพท์ ซึ่งในวันนี้ ‘โหมดเสียงเงียบ’ เริ่มจะถูกเรียกในชื่อใหม่แทนแล้วว่า ‘โหมดมีมารยาท’ (Manner Mode)

อ้างอิง