เคยดูหนังเรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind เมื่อปี 2004 ไหมครับ จิม แครีย์ และ เคต วินสเลต แสดงนำ เรื่องของคู่รักที่เลิกรากันไม่ดี ต่างฝ่ายต่างก็ไปลบเรื่องราวของกันและกันออกจากความทรงจำ แน่นอนล่ะว่าบทหนังมีแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริง ที่ใคร ๆ หลายคนต่างก็เผชิญ ไม่ใช่แค่ความทรงจำเรื่องความรักอย่างเดียวหรอก เรื่องความเศร้า การกระทำที่น่าอับอายในอดีต ที่ผุดกลับมาเมื่อใดก็ล้วนแต่สร้างความรู้สึกเจ็บช้ำ หลอกหลอนเราตลอดไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งถ้ามีวิทยาการที่สามารถลบความทรงจำเหล่านี้ขึ้นมาได้จริง ก็เชื่อแน่ว่าย่อมมีคนมากมายต้องการใช้บริการ

Eternal Sunshine of the Spotless Min

ซึ่งวันนี้เราเข้าใกล้ความเป็นจริงแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์เผยว่าเขาค้นพบแนวทางที่จะทำได้แล้ว และยืนยันว่า ‘ความทรงจำ’ ในสมองเรานั้นมันไม่ได้ยึดติดคงทนถาวรอย่างอยู่ในสมองเราอย่างที่เราเข้าใจ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบแนวทางที่จะ ลบ, เปลี่ยน หรือแม้กระทั่งฝังความทรงจำใหม่ลงไปยังได้เลย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคิดค้นตัวยาที่จะช่วยปรับเปลี่ยนระบบความทรงจำในสมองเราให้สามารถลืมเรื่องราวเลวร้ายในอดีตได้ ก้าวสำคัญที่ทำให้เราใกล้จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ก็มาจากวิทยาการในการสแกนระบบประสาทที่รุดหน้าขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี่

ถึงตรงนี้อยากจะอธิบายการหลักการคร่าว ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์จะใช้ลบความทรงจำในสมองเรา ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าระบบความทรงจำนั้นถูกเก็บไว้ในสมองเราในรูปแบบใด

ในอดีตกาลนั้น นักวิทยาศาสตร์เข้าใจผิดกันมาโดยตลอดว่า ความทรงจำ นั้นถูกเก็บอยู่ในจุดจำเพาะในสมองเรา นึกภาพตามก็คงเป็นเหมือนตู้เก็บเอกสารที่เก็บรวบรวมระบบประสาท แต่มาถึงวันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบข้อเท็จจริงแล้วว่า ความทรงจำนั้นถูกเก็บไว้ในจุดเชื่อมต่อทั่วสมองเรา ความทรงจำในสมองนั้นอยู่ในรูปของ ‘โปรตีน’ ที่คอยกระตุ้นเซลล์สมองให้เติบโตขึ้นและสร้างจุดเชื่อมต่อใหม่ ๆ ขึ้นมา พอเกิดความทรงจำใหม่ สมองก็จะสร้างวงจรใหม่ขึ้นมา และจะฝังอยู่อย่างนั้นตราบนานเท่านาน เมื่อเราบังเอิญไปเจอสถานการณ์ใด ๆ ขึ้นมา ก็จะพาให้เราย้อนนึกถึงเหตุการณ์นั้น ๆ ในอดีต และที่น่าประหลาดใจก็คือ ความทรงจำเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เลือนหายไปนะ แต่ตรงกันข้าม ยิ่งเราย้อนคิดถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยเพียงใด ความทรงจำนั้นจะยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

กระบวนการนี้เรียกว่า ‘reconsolidation’ (การรื้อฟื้นความทรงจำ) กระบวนการนี้จะอธิบายได้ว่า ทำไมบางครั้งความทรงจำบางเรื่องถึงเปลี่ยนไปจากเดิม ยกตัวอย่าง ถ้าเราเคยขี่จักรยานแล้วล้ม ทุกครั้งที่เราย้อนนึกถึงเหตุการณ์นี้เราก็จะรู้สึกเจ็บใจ หัวเสีย แต่ยิ่งเราย้อนนึกถึงเหตุการณ์นี้บ่อยครั้งเพียงใด ความคิดของเราก็จะเชื่อมโยงกับความทรงจำนี้เหนียวแน่นมากขึ้น รวมไปถึงความรู้สึกอาจจะเปลี่ยนไปเป็นความกลัว หรือเสียใจก็ได้ แล้วสุดท้ายพอเราแค่นึกถึงจักรยานเราก็จะเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาแล้ว แต่สำหรับบางคนรูปแบบก็อาจจะแตกต่างกันไป บางทีประสบการณ์ที่เราเคยเจ็บช้ำน้ำใจ พอผ่าน ๆ ไป พอมาย้อนคิดถึงอีกครั้งก็กลายเป็นเรื่องน่าขันไปเสียได้ และกระบวนการ reconsolidation นี่ล่ะ เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปแฮกความทรงจำของเราได้

ริชาร์ด เกรย์ หนึ่งในนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้กล่าวว่า
“ทีมนักวิจัยของเราค้นพบแล้วว่า ความทรงจำสามารถเข้าไปจัดการได้ เพราะว่ารูปทรงของความทรงจำนั้นจะเรียกว่าเหมือน ‘แก้ว’ เลยก็ว่าได้ ตอนที่ความทรงจำถูกสร้างขึ้นมันอยู่จะอยู่ในรูปของเหลว แล้วก็จะกลายเป็นของแข็งในภายหลัง เมื่อเราย้อนคิดถึงความทรงจำนั้น มันก็จะกลายเป็นของเหลวอีกครั้ง”

การค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก ทำให้พบวิธีการสกัดกั้นสารเคมีในร่างกายที่เรียกว่า norepinephrine ซึ่งมีผลกระตุ้นมนุษย์เราตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าว่าจะสู้หรือหนี และเป็นตัวการก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เหงื่อออกบนฝ่ามือ หัวใจเต้นเร็ว พอเจอตัวการนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถช่วยบรรเทาปฏิกิริยาตอบสนองทางด้านลบเมื่อเราย้อนคิดถึงความทรงจำเลวร้ายเหล่านี้ได้

มีการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้สำเร็จมาแล้วกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ พวกเขาได้ทดลองกับอาสาสมัครที่เป็นโรคกลัวแมงมุม (arachnophobes) ด้วยการให้อาสาสมัครเหล่านี้ทานยา propranolol หรือ placebo ซึ่งมีสรรพคุณสามารถสกัดกั้นการหลั่งสาร norepinephrine

การแก้ไขความทรงจำ รักษาโรคกลัวแมงมุมได้

ในการทดลองนี้ได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม ใน 2 กลุ่มนี้ นักวิทยาศาสตร์นำแมงมุมทารันตูล่าตัวใหญ่ใส่ขวดแก้วมายื่นใส่พวกเขาเพื่อปลุกความรู้สึกกลัวแมงมุม แล้วจึงให้ทานยา propranolol หรือ placebo ส่วนกลุ่มที่ 3 นั้น ให้ทานยาก่อนเลย โดยไม่ต้องดูแมงมุมในขวดแก้ว ผ่านไปสัก 2-3 เดือน อาสาสมัครโดนเรียกตัวกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์นำแมงมุมทารันตูล่าใส่ขวดแก้วมายื่นใส่พวกเขาอีกครั้ง แต่ปฏิกิริยาตอบรับในรอบนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก กลุ่มแรกที่ให้ทานยา propranolol หรือ placebo ไปเฉย ๆ เลยโดยที่ไม่ได้ดูแมงมุม ยังคงกลัวแมงมุมเหมือนเดิม แต่กับอีก 2 กลุ่ม ที่โดนเอาแมงมุมในขวดแก้วมายื่นใส่ก่อนแล้วค่อยให้ทานยานั้นสิ ในวันแรกพวกเขาสามารถจับแมงมุมได้เฉยเลย พอผ่านไป 3 เดือนก็มีพัฒนาการอย่างน่าตื่นใจ เมื่อพวกเขาเอาแมงมุมมาอุ้มเล่นได้ และผ่านไปเป็นปีความกลัวแมงมุมก็ไม่กลับมาอีกเลย เหมือนว่าความทรงจำที่เคยกลัวแมงมุมในอดีตถูกลบหายไปหมดแล้ว

ยา propranolol

ยา propranolol และ placebo ถูกใช้ทดลองอีกครั้งในปี 2007 กับอาสาสมัครที่มีความทรงจำรุนแรงในอดีต พวกเขาเหล่านี้ทานยา propranolol หรือ placebo ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน แล้วให้พวกเขาย้อนเล่าความทรงจำเลวร้ายในอดีตให้ฟัง ผลคืออาสาสมัครเหล่านี้ไม่ได้ลืมความทรงจำเลวร้ายเหล่านั้น แต่เมื่อผ่านไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ พวกเขาสามารถย้อนนึกถึงความทรงจำเหล่านี้ได้แบบตึงเครียดน้อยลงกว่าแต่ก่อน

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้กล่าวถึงเป้าหมายของเขาในขณะนี้ว่า ไม่ได้มุ่งหวังที่จะลบความทรงจำในมนุษย์ให้หมดสิ้นไปเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม ถึงแม้วามีแนวโน้มว่าจะทำได้สำเร็จสูงก็ตาม แต่จะหาแนวทางการทำงานร่วมกันทั้งการทานยาและการฝึกย้อนนึกถึงความทรงจำเหล่านั้น

Julia Shaw

แต่ถึงตรงนี้สิ่งที่น่ากังวลมากว่าคือ นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้กระบวนการ reconsolidation ปลูกฝังความทรงจำใหม่ ๆ ลงไปในสมองคนเราก็ได้ด้วย จูเลีย ชอว์ (Julia Shaw) นักจิตวิทยากล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำให้คนเราสามารถย้อนนึกถึงเหตุการณ์ก่ออาชญากรรมที่พวกเขาไม่เคยกระทำมาก่อนได้ แล้วยังสามารถเล่ารายละเอียดในเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ก็ทำให้มาถึงคำถามว่า แล้ววิทยาการนี้จะมีประโยชน์อะไรกับมนุษยชาติ

สารคดีเรื่อง Memory Hackers

ไมเคิล บิกส์ (Michael Bicks) ผู้สร้างสารคดีเรื่อง ‘Memory Hackers’กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของนักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่ได้พยายามลบความทรงจำอันปวดร้าวออกจากสมองมนุษย์ให้หมดสิ้น เหมือนอย่างในหนัง Eternal Sunshine for the Spotless Mind แต่อาจจะไปปรับเปลี่ยนมันนิดหน่อย เพื่อให้เจ้าของความทรงจำเหล่านั้นรู้สึกตึงเครียดน้อยลง เพราะที่จริงแล้วความทรงจำไม่ได้เป็นสาเหตุของความรู้สึกปวดร้าว แต่เป็นเพราะการทำงานของสภาพจิตของเราต่างหาก และประโยชน์ที่สุดที่จะได้จากการค้นพบนี้ก็คือ หนทางเยียวยารักษาให้กับกลุ่มคนไข้ที่มีโรคกลัวต่าง ๆ ผู้มีอาการวิตกกังวล และผู้ป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง PTSD

“การเขียนความทรงจำขึ้นมาใหม่ จะช่วยให้เราปรับปรุงมันให้ดีขึ้นได้ แต่จุดประสงค์ของการลบความทรงจำเหล่านั้นออกเหมือนกับการล้างฮาร์ดดิสก์นะ แต่เรายังสามารถลบล้างความทรงจำอันไม่น่าพิสมัยออกแล้วสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ลงไปที่เราสามารถอยู่กับมันได้ต่างหาก”
ไมเคิล บิกส์ กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง