ตด หรือ การผายลม เป็นเรื่องธรรมชาติ ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘ตด’ เถอะนะไม่น่าจะหยาบเกินไป ตด คือการระบายแก๊สที่อยู่ในลำไส้ผ่านออกไปทางทวารหนัก ทั้งมนุษย์ และ สัตว์ ต่างก็ต้องตด แน่นอนว่ากลิ่นของมันไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย แล้วมันไม่ใช่อาการที่จะควบคุมได้ง่ายนัก ถ้าตอนอยู่บ้านก็สบายใจหน่อย ยิ่งอยู่กับคนใกล้ชิดนี่นึกอยากจะปล่อยก็ปล่อยเลย แต่เวลาอยู่ที่ทำงานหรือในที่สาธารณะนี่สิเป็นเรื่องต้องระมัดระวังแล้ว ซึ่งหลายคนก็เลือกใช้วิธีค่อย ๆ ปล่อยให้ออกมาแต่ลมแล้วระวังไม่ให้มีเสียงเป็นพอ สำคัญมากนะขั้นตอนนี้ต้องมั่นใจว่าปล่อยออกมาแต่ลมจริง ๆ พลาดกันมาเยอะแล้ว ถ้าจะมีเมตตาสักหน่อยก็ควรจะเดินไปมุมอับที่ไม่มีคน แกล้งทำเป็นเล่นโทรศัพท์แก้เขินปล่อยลมซะแล้วค่อย ๆ เดินออกมาเนียน ๆ

ศาสตราจารย์แคลร์ คอลลินส์

ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับการศึกษาของศาสตราจารย์ แคลร์ คอลลินส์ (Clare Collins) ศาสตราจารย์ทางด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งล่าสุดเธอได้ทดสอบเกี่ยวกับปริมาณที่มนุษย์ควรบริโภคว่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับสุขภาพอย่างไรบ้าง ในการนี้เธอได้วิจัยลึกลงไปในเรื่องต่าง ๆ เช่น รูปแบบของอาหาร, น้ำหนัก, สุขภาพของผู้คนในแต่ละวัย, ช่วงต่าง ๆ ของชีวิต และได้สรุปผลการวิจัยนี้ไว้ในเว็บไซต์ The Conversation ใจความสำคัญตอนหนึ่งเธอได้กล่าวว่า แก๊สเสียในลำไส้ของเรานั้นสามารถซึมซับเข้าสู่กระแสเลือดได้ และเมื่อมันหาทางออกสู่ภายนอกร่างกายไม่ได้ สุดท้ายมันก็จะออกมาทางปากของเราแทน ซึ่งเธอได้เตือนเป็นจริงเป็นจังเลยว่า

“การพยายามกลั้นตดไว้เท่ากับเป็นการสะสมแรงกดดันภายในไว้มากขึ้น จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดมาก พอมีแก๊สในระบบลำไส้มากเข้า ก็จะทำให้บริเวณท้องเราบวมขึ้น พอถึงตอนนั้นแก๊สเหล่านี้ก็จะซึมซับเข้าสู่กระแสเลือดแล้วก็ระบายออกมาทางลมหายใจของเรา หรือบางครั้งถ้าเราอั้นตดไว้นานเกินไป สุดท้ายแก๊สในลำไส้เรามันก็จะออกมาเองทางก้น เป็นตดที่เราไม่สามารถควบคุมได้”

“ต่อไปถ้าคุณรู้สึกว่ามีมวลแก๊สจำนวนมากในระบบลำไส้พร้อมจะถูกปล่อยออกมาแล้ว แนะนำว่ารีบมองหาที่เหมาะ ๆ ที่จะปล่อยออกมาซะ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำต่อระบบย่อยอาหารของคุณ จงปล่อยมันออกไปเถอะ”
นี่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนด้วยความหวังดีเลยนะ ฉะนั้นเราจงมาตดเพื่อสุขภาพกันเถอะ

อ้างอิง