หาว เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามปกติในแต่ละวันของมนุษย์ มนุษย์ในวัยผู้ใหญ่จะหาวกันถึง 20 ครั้งต่อวันเลยเชียว หาวเป็นอาการที่ยากจะอดกลั้น ถ้าเรารู้สึกอยากหาว แล้วกลั้นไว้อาจจะด้วยเวลาและสถานที่ไม่อำนวย ผ่านไปได้สักพักอาการง่วงเหงาหาวนอนก็จะกลับมาอีกอยู่ดี บางทีที่เราหาวก็เพราะร่างกายอ่อนเพลีย หรืออาจจะเพราะอดหลับอดนอน แต่ที่แปลกก็คือบางทีเราไม่ได้รู้สึกง่วงเลย แต่เมื่อเห็นคนข้าง ๆ หาว แล้วเราก็ดันหาวตามขึ้นมาซะงั้น มันเป็นเพราะอะไรกันนะ เรื่องนี้เราได้สอบถามไปกับนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ แขนง ทั้งนักวิทยาศาสตร์ทางด้านการพูด, นักประสาทวิทยาด้านการนอนหลับ และนักประสาทวิทยาทั่วไป ถึงข้อสงสัยที่ว่า ทำไมการหาวถึงติดต่อกันได้ เพื่อความเข้าใจโดยถ่องแท้ ก่อนอื่นเรามาดูสาเหตุถึงการหาวกันก่อน
ทำไมเราถึงหาว
สาเหตุของการหาวในมนุษย์นั้น มีหลายทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ยังโต้แย้งกันอยู่ ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปถึงสาเหตุของการหาวอย่างแน่ชัด แต่ 1 ในทฤษฎีที่มีการโต้แย้งกันมากสุดคือ คนเราหาวเพราะความอ่อนเพลีย เมื่อเราอยู่ในภาวะเหนื่อยอ่อน เราจะไม่สูดหายใจเข้าลึก ๆ โดยไม่รู้ตัว ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายเพิ่มขึ้น
ดักลาส พาร์แฮม (Douglas Parham) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านการพูด ประจำมหาวิทยาลัยวิชิตา เผยว่าเป็นการหาวคือการหายใจรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ เมื่อเราหาวนั้นร่างกายจะสร้างออกซิเจนขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็สามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากร่างได้มากกว่าตอนที่สูดหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ เสียอีก
ส่วน เจมส์ จิออร์ดาโน (James Giordano) นักประสาทวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ให้คำอธิบายเรื่องสาเหตุของการหาวว่า เมื่อร่างกายเรามีปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินไป และเกิดการเปลี่ยนทางเคมีภายในร่างกาย อย่างเช่น ปริมาณออกซิเจนลดลง แต่ปริมาณของ อะเดโนซีน เพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นการจุดชนวนให้เกิดการหาวที่เรียกว่า “yawn gates” ปรากฏารณ์ทางเคมีภายในร่างกายเรานี้ล่ะ จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อกระตุ้นให้หาว ในขณะที่เราหาวนั้น กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าจะหดตัวลง เป็นการขับออกซิเจนในกระแสเลือดให้วิ่งไปยังสมอง
มีอีกทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับการหาว บอกว่าไว้ว่า เมื่อเราหาวจะทำให้อุณหภูมิในสมองเย็นลง และช่วยยืดหยุ่นอวัยวะภายในอย่างเช่นปอด และเนื้อเยื่อภายใน
(ทำไมหาวถึงติดต่อกันได้ อ่านต่อหน้า 2 เลย)
ทำไมหาวถึงติดต่อกันได้
เราต่างเคยเห็นคนอื่นหาว แล้วก็หาวตามกันทั้งนั้นแหละ ใช่ไหมครับ ในเรื่องนี้ ดร.เจมส์ จิออร์ดาโน อธิบายไว้ว่า ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกจำเพาะว่า ‘ทฤษฎีสังคมกระจก’ หรือ social mirroring แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเรามีพฤติกรรมเลียนแบบผู้อื่น ไม่ใช่จำกัดจำเพาะแค่หาวตามกันแค่นั้น แต่บางทีเราเห็นคนอื่นเกา เราก็รู้สึกคันแล้วเกาตามไปด้วย หรือเห็นเขาไขว่ห้างแล้วเราก็อยากไขว่ห้างตาม หรือเห็นคนอื่นหัวเราะอย่างมีความสุข ถึงแม้เราไม่รู้ว่าเขาขำอะไร แต่ก็ทำให้เราหัวเราะตามไปด้วยได้ อาการต่าง ๆ นี้ล้วนถูกสังการมาจาก เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neurons) เซลล์สมองกลุ่มนี้ล่ะที่ทำให้เราหาวตามคนที่หาว หรือเศร้าตามคนอื่น ช่วยให้มนุษย์เรามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
“เซลส์สมองส่วนนี้ล่ะที่จะทำให้เตือนให้เรารู้ว่าถ้าเราขยับร่างกายอย่างไรแล้วจะส่งผลให้รู้สึกอย่างไร ยกตัวอย่างถ้าคนเห็นผมเกาหัวอยู่ คุณจะรู้ทันทีว่าถ้าเกาหัวแล้วจะรู้สึกอย่างไร คุณจะถูกกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำตามขึ้นมาทันที”
แต่ต้องบอกด้วยว่าพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่สามารถควบคุมได้เช่นนี้นั้น จะเกิดกับสมองที่มีพัฒนาการถึงขีดสุดแล้ว
“ในมนุษย์วัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิต สุขภาพร่างกายปกตินั้น จะมีพัฒนาการทางสภาพจิต ที่จะทำให้เราหาวตามคนอื่น แต่ในทางตรงกันข้ามในบุคคลที่มีพัฒนาการทางสมองบกพร่อง เราจะไม่พบเห็นพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่ตั้งใจในกลุ่มคนประเภทนี้”
คำอธิบายจาก ดร.เรแยน ซารีน (Reayn Saghir) อาจารย์จาก โรงเรียนแพทย์แห่งวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน
“ในการศึกษาเรื่องนี้ เราพบว่าเด็ก ๆ กลไกลในระบบประสาทยังอยู่ในช่วงพัฒนาการนั้น จะหาวก็ต่อเมื่อมีอาการอ่อนเพลียเท่านั้น และไม่หาวเมื่อเห็นคนอื่นหาว ซึ่งคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ที่มีภาวะ ออติสม์ หรือมีอาการทางจิตเภท ก็จะมีรูปแบบทางสังคมที่ต่างกันออกไป ในกลุ่มพวกนี้ก็จะไม่หาวตามกัน”
โจว-เฟิง เฉิน (Zhou-Feng Chen) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับอาการคันและความรู้สึกผิดปรกติ แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Center for the Study of Itch & Sensory Disorders) ได้มีการศึกษาพฤติกรรมเลียนแบบในหนูทดลอง เขาทำการทดลองด้วยการให้หนูทดลองดูภาพวิดีโอที่หนูอีกตัวกำลังเกาตัวเองอยู่ ผ่านไปเพียงแค่ 5 วินาทีเท่านั้น หนูตัวที่ดูวิดีโอก็เกาตาม เหตุที่สัตว์มีพฤติกรรมเลียนแบบกันเช่นนี้ เป็นเพราะว่าสัตว์เหล่านี้มีความคุ้นเคยว่าการกระทำแบบนี้ทำให้รู้สึกอย่างไร โดยไม่ต้องใคร่ครวญ มันจะกระทำเลยทันที
โธมัส สแคมเมลล์ (Thomas Scammell) นักประสาทวิทยาประจำวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด เผยว่า พฤติกรรมเลียนก็มีข้อดีในด้านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม
“ยกตัวอย่างกรณีที่มีความยิ้มแฉ่งเข้ามาหาคุณอย่างเป็นมิตร เมื่อเราเห็นดังนั้น สมองเราก็ไม่ทันสั่งการหรอก แต่เราจะส่งยิ้มกลับไปทันที มันคือปฏิสัมพันธ์ในสังคมรูปแบบหนึ่ง ผลปรากฏออกมาว่า คนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะมีพฤติกรรมในรูปแบบ ‘ทฤษฎีสังคมกระจก’ มากกว่าคนอื่น”
จากทฤษฎีที่ว่า การที่เราหาวตามใครนั้นมันเกี่ยวโยงกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้เราสังเกตได้ว่า เรามีแนวโน้มจะหาวตามคนที่เราใกล้ชิดสนิทสนมหรือมีความรู้สึกผูกพันมากกว่าคนแปลกหน้า เรื่องนี้ ดร.เรแยน ซารีน มีคำอธิบาย
“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ถ้าคนในครอบครัวเราหาว เรามีความรู้สึกว่าอยากหาวตามมากกว่าเวลาที่เห็นคนแปลกหน้าหาว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สมองส่วนที่เชื่อมโยงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สั่งการให้เรารู้สึกร่วมไปกับคนที่กำลังหาวอยู่ แล้วเราก็รู้สึกอยากจะกระทำตามโดยไม่ได้ตั้งใจ”
ฉะนั้นการที่เราเห็นใครหาวแล้วหาวตามไปด้วยนั้นนับว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นข้อยืนยันว่าเราเป็นคนที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และภายในลึก ๆ เราก็มีความต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้นั้นไว้