ป๊อปคอร์น (Popcorn) หรือ ข้าวโพดคั่ว คือของว่างหรือขนมขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และน่าจะเป็นหนึ่งในอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย เพราะมนุษย์รู้จักการปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่ 10,000 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีเคยค้นพบหลักฐานว่ามนุษย์รู้จักการทำข้าวโพดคั่วมาเป็นพันปีแล้ว มีหลักฐานเป็นฟอสซิลในเปรู บ่งบอกว่ามนุษย์ค้นพบวิธีทำเมล็ดข้าวโพดให้ “ป๊อป” หรือแตกออกด้วยความร้อนมาตั้งแต่ 4,700 ปีก่อนคริสตกาล จวบจนเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 มนุษย์เริ่มทำป๊อปคอร์นด้วยการวางเมล็ดข้าวโพดบนเตา แต่ยุคก่อนนั้นยังไม่มีการเรียกชื่อเฉพาะของอาหารประเภทนี้ เริ่มมีการบัญญัติคำว่า Pop เข้ามาในพจนานุกรมเพื่อชาวอเมริกันของ จอห์น รัสเซล เมื่อปี 1848
ปัจจุบันป๊อปคอร์น กลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สามารถทานได้ทุกโอกาส แต่กลายมาเป็นขนมที่นิยมกินกันระหว่างชมภาพยนตร์และกีฬาในยุค 30s เป็นต้นมา หลายคนที่นิยมชมชอบในการกินป๊อปคอร์นกันมาก ก็มักซื้อหาเมล็ดข้าวโพดคั่วติดบ้านกันไว้ เพราะปัจจุบันก็ทำได้สะดวกมาก แค่เอาใส่ไมโครเวฟไม่กี่นาทีก็อร่อยได้แล้ว ตามด้วยความอร่อยและกินเพลินจนหยุดไม่ได้ของเจ้าป๊อปคอร์นนี่แหละ ที่ทำให้ผู้บริโภคบางท่านเกิดความกังวลว่า ฉันกินมากเกินไปจะทำให้อ้วนไหม มีคอเลสเตอรอลหรือเปล่า ควรกินบ่อยแค่ไหนดี ไม่ต้องกังวลกันมากเกินไปครับ นักโภชนาการยืนยันแล้วว่าในจำนวนขนมขบเคี้ยวทั้งหมดนั้น ต้องถือว่าป๊อปคอร์นนี้แหละถือว่ามีคุณประโยชน์ เต็มเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่สุดแล้ว แต่อย่าไรก็ตามอาหารทุกอย่างก็ควรบริโภคแต่พอดี บทความนี้จะพาคุณ ๆ รู้จักข้อดีของป๊อปคอร์นให้มากขึ้นเพื่อความสบายใจในการจกถังป๊อปคอร์นกันครั้งต่อไปครับ
1.ป๊อปคอร์น เป็นขนมขบเคี้ยวที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
ถ้าคุณเป็นคนที่โปรดปรานป๊อปคอร์นมาก แล้วเกิดกังวลว่าทานมาก ๆ แล้วจะเป็นอันตรายกับสุขภาพไหม การจะตอบคำถามนี้ได้นั้น ต้องอธิบายลงลึกไปถึง กรรมวิธีในการคั่วข้าวโพดนั้น ๆ เสียก่อน ทุกวันนี้ป๊อปคอร์นนั้นมีการคั่วด้วย 2 กรรมวิธีที่แตกต่างกัน
1.การคั่วแบบแห้ง (dry-popping process) เป็นการให้ความร้อนด้วยลมร้อนซึ่งจะทำให้ความชื้นในเมล็ดข้าวโพดกลายเป็นไอซึ่งจะดันเมล็ดให้แตกและขยายตัวออก ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ข้าวโพดสุกในเวลาต่อมา แล้วจึงคลุกเคล้าด้วยน้ำมันและเกลือ หรือเครื่องปรุงรสชนิดอื่น
2.การคั่วแบบเปียก (wet-popping process) เป็นการให้ความร้อนด้วยน้ำมัน ด้วยการป้อนเมล็ดข้าวโพด น้ำมัน และเกลือเข้าในหม้อคั่ว ความร้อนจะทำให้ความชื้นในเมล็ดกลายเป็นไอ ทำให้เมล็ดข้าวโพดพองตัวและขยายตัวออก หรือวิธีที่ใช้กันตามบ้านหรือตามร้านค้าขนาดเล็ก คือ คั่วโดยการนำเนยใส่ลงในหม้อตั้งไฟจนเนยละลาย แล้วใส่ข้าวโพด ปิดฝาหม้อไว้ พอข้าวโพดเริ่มแตกให้เขย่าหม้อ 2-3 ครั้ง จนข้าวโพดแตกจนทั่ว จึงเปิดฝาและโรยด้วยเกลือป่น หม้อที่ใช้ในการคั่วสามารถใช้หม้อหุงต้มได้ทุกชนิด
ฉะนั้นป๊อปคอร์นที่ได้จากการคั่วแบบแห้งนั้นจะไม่มีไขมันที่ทำให้เราอ้วน แต่การคั่วแบบเปียกหรือคั่วด้วยเนยนั่นสิ ที่จะทำให้เราอ้วนได้
2.ป๊อปคอร์นให้แคลอรี่ที่น้อยมาก
ป๊อปคอร์นที่ให้คุณประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุดคือป๊อปคอร์นที่คั่วแบบแห้ง หรือการใช้ลมร้อน จะให้พลังงานที่ 30 แคลอรี่ต่อการบริโภค 1 ถ้วย (128 กรัม) ที่สหรัฐฯ ประเทศแห่งการชมภาพยตร์ การสำรวจเมื่อปี 2020 มีโรงภาพยนตร์ทั่วสหรัฐฯ ประมาณ 5,7xx โรง จึงมีการบริโภคป๊อปคอร์นต่อคนต่อปีในปริมาณที่น่าเป็นห่วงตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงทำการสำรวจคุณค่าทางสารอาหารในป๊อปคอร์นของโรงหนัง 2 เครือหลักคือ รีกัล และ เอเอ็มซี พบว่า ป๊อปคอร์นในขนาดกลาง 105 Oz.(2,976 กรัม) และขนาดใหญ่ 170 Oz.(4,819 กรัม) จะให้พลังงานที่ 1,200 แคลอรี และให้ปริมาณไขมันอิ่มตัวอยู่ที่ 60 กรัม เพราะมีส่วนผสมของเนยและสารปรุงแต่งรสอยู่ในปริมาณมาก การทำป๊อปคอร์นกินเองที่บ้านด้วยไมโครเวฟ จึงจะได้ป๊อปคอร์นที่ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์มากกว่า
3.ป๊อปคอร์นมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าผักและผลไม้เสียอีก
เมื่อปี 2019 มีการสำรวจและเผยแพร่ในวารสารเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) พบว่าในป๊อปคอร์นนั้นเปี่ยมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (polyphenol)เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก พบมากในพืชผัก มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอสิระ และลดการอักเสบ ผื่นคัน แต่โพลีฟีนอลในผักและผลไม้นั้นก็มีปริมาณที่เจือจางลงไปมาก เพราะในผักและผลไม้นั้นมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 90% แต่ในป๊อปคอร์นนั้นมีน้ำเป็นองค์ประกอบเพียงแค่ 4% เท่านั้น โพลีฟีนอลยังพบได้มากในอาหารจำพวกหอยเปลือกแข็ง พอประมาณได้ว่า ในการบริโภคป๊อปคอร์น 1 ครั้งนั้น เราจะได้รับสารโพลีฟีนอลในปริมาณ 300 มิลลิกรัม
มหาวิทยาลัยสแครนตันเคยทำการสำรวจนิสัยการบริโภคของชาวอเมริกัน พบว่า 13% ของคนอเมริกันได้รับสารโพลีฟีนอลประมาณ 255 มิลลิกรัม/วัน จากการทานผลไม้ และ 128 มิลลิกรัม/ วันจากการทานผัก แต่ในผักและผลไม้ยังมีวิตามินและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอีกมาก ซึ่งไม่มีในป๊อปคอร์น
4.ป๊อปคอร์นช่วยยับยั้งมะเร็งได้อีกด้วย
อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของสารโพลีฟีนอลที่มีมากในป๊อปคอร์นก็คือ ช่วยสกัดกั้นเอนไซม์ (คือกลุ่มโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์สิ่งมีชีวิต พบได้ทั้งในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์) ที่จะไปช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในการนี้ สมาคมการวิจัยเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง (American Institute for Cancer Research) ได้เสนอแนะว่าการควบคุมมะเร็งที่ง่ายสุดและทำกันมาช้านานแล้วก็คือการบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งวันนี้ก็ต้องเพิ่มอีก 1 ทางเลือกเข้าไปนั่นก็คือ การบริโภคป๊อปคอร์น ที่เปี่ยมไปด้วยโพลีฟีนอล ซึ่งแถมมาด้วยผลพวงพิเศษอื่น ๆ อีกเช่นป้องกันการอักเสบ และลดการก่อตัวของคราบพลัค และยังช่วยเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย (cardiovascular disease)
5.ได้สารอาหารจาก ธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain)
“โฮลเกรน” (Whole grain) คือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าสารอาหารอย่างครบถ้วน การบริโภคป๊อปคอร์นนั้นเท่ากับเราได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากธัญพืชเต็มเมล็ดที่ยังไม่ผ่านการปรับแต่ง การทานป๊อปคอร์นที่เสิร์ฟมาในขนาดเล็กนั่นก็เท่ากับเราได้รับ 70% ของปริมาณโฮลเกรนที่ควรบริโภคต่อวันแล้ว ฉะนั้นการทานป๊อปคอร์นก็คือเพิ่มปริมาณใยอาหารเข้าร่างกายที่ง่ายและเพลิดเพลินวิธีหนึ่ง
6.ป๊อปคอร์นช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
อย่างที่กล่าวไปว่า ป๊อปคอร์นคือธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) และอีกคุณสมบัติหนึ่งของโฮลเกรนก็คือ ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber) ซึ่งมีส่วนช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานปรกติ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการท้องผูก การทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงจะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ราบรื่นเป็นปรกติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration)เองก็ทราบถึงคุณประโยชน์ข้อนี้ดีว่า ป๊อปคอร์นนั้นเป็นขนมขบเคี้ยวที่มีผลดีต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหารของมนุษย์เรา
7.ป๊อปคอร์นเป็นช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี
นั่นก็เพราะว่าป๊อปคอร์นเป็นอาหารที่เส้นใยอาหารจำนวนมาก อาหารประเภทนี้จะใช้เวลาในการย่อยมากกว่าอาหารประเภทที่มีเส้นใยน้อย นั่นแปลว่าเมื่อเรารับประทานไปแล้วจะอิ่มได้นานขึ้น สำหรับคนที่อยากควบคุมน้ำหนักจึงแนะนำให้ทานป๊อปคอร์นที่คั่วด้วยลมร้อน และไม่ต้องเติมเนยหรือเกลือ ในระหว่างมื้ออาหาร จะทำให้เรามีความอยากทานของหวานหรือไขมันลดน้อยลง
8.คนที่เป็นเบาหวานก็ทานได้สบายใจ
journal Circulation วารสารทางวิชาการได้เผยผลการค้นคว้าไว้ในปี 2015 ว่า ป๊อปคอร์นเป็นอาหารประเภทที่มีเส้นใย ถึงแม้ว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับคาร์โบไฮเดรตก็ตาม แต่ก็ไม่ไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดเหมือนอย่างกับ ขนมปังขัดสี นั่นก็เพราะว่าป๊อปคอร์นเป็นอาหารที่มีเส้นใยจำนวนมากจึงไม่มีส่วนประกอบของ คาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมไปใช้ได้ ( Digestible carbohydrate) ในจำนวนมากนัก ป๊อปคอร์นจึงช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง ซึ่งจะส่งผลให้มีการปรับปริมาณน้ำตาลในเลือดให้สมดุลหรือช่วยลดปริมาณน้ำตาลลงอีกด้วย
9.เพิ่มรสชาติให้ป๊อปคอร์นได้หลากหลาย
อย่างที่กล่าวไป ตัวป๊อปคอร์นเองไม่ได้ให้แคลอรี่ที่สูง และไม่มีไขมันที่ทำให้อ้วน แต่มาจากเนยที่ใช้คั่วป๊อปคอร์นต่างหาก เราก็แค่เปลี่ยนการปรุงรสชาติจากเนยและเกลือ เป็นรสชาติอื่น ๆ แทน ซึ่งมีอีกหลากหลายรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น อบเชย (cinnamon), ผงเครื่องเทศ apple pie spice หรือจะไปแนวเผ็ดร้อนก็อย่างเช่น วาซาบิ, หม่าล่า หรือผงกะหรี่ หรือจะลองคิดค้นรสชาติใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง จากเครื่องปรุงต่าง ๆ ในครัวบ้านเราเอง
10.ป๊อปคอร์นมีธาตุเหล็กมากกว่าผักโขมเสียอีก
กระทรวงเกษตรสหรัฐ (United States Department of Agriculture) ได้เผยข้อมูลออกมาว่า ในป๊อปคอร์นที่ปริมาณ 28 กรัม นั้น จะให้ปริมาณธาตุเหล็กอยู่ที่ 0.9 มิลลิกรัม ในขณะที่ผักโขมจะให้ปริมาณธาตุเหล็กที่ 0.8 มิลลิกรัม แม้ว่าตัวเลขจะต่างกันเพียงนิดเดียว แต่ถ้าเทียบกับปริมาณธาตุเหล็ก ที่ผู้ใหญ่เพศชายต้องการต่อวันก็อยู่ที่ 8 มิลลิกรัมเท่านั้นเอง ต่างกับผู้หญิงที่ต้องการธาตุเหล็กต่อวันสูงถึง 18 มิลลิกรัม นั่นเพราะพวกเธอเสียเลือดไปมากในช่วงที่มีประจำเดือน เกือบ 10% ของหญิงทั่วโลกจึงอยู่ในภาวะที่ขาดธาตุเหล็ก ป๊อปคอร์นจึงเป็นอีก 1 ทางเลือกที่ง่าย อร่อย และสะดวกในการเพิ่มธาตุเหล็กให้กับผู้หญิงทุกคนนะครับ