เรื่องเริ่มต้นจากเหตุที่ ซาราห์ แซลลอน (Sarah Sallon) นักวิทยาศาสตร์หญิงจากสถาบัน Louis L Borick Natural Medicine Research Center ได้อ่านเจอบทความว่า นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สามารถปลูกบัวจากเมล็ดพันธุ์โบราณ อายุกว่า 500 ปีได้สำเร็จ
เธอยังรู้อีกว่า เมื่อปี 1960 นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลกลุ่มหนึ่ง ได้ค้นพบเมล็ดอินทาผลัมโบราณกว่า 100 เมล็ด อยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของป้อมปราการมาซาดา (Masada Fottress) ส่วนหนึ่งของพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าเฮโรดมหาราช (Herod the Great) ภายในถ้ำแห่งหนึ่งที่สร้างไว้ในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล ถ้ำแห่งนี้อยู่ในทะเลทรายจูเดียนใกล้กับเจรูซาเล็ม และได้เก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัย Bar Illan ในปี 2004 แซลลอนจึงได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัย เพื่อขอรับเมล็ดอินทผาลัมส่วนหนึ่งมาทำการทดลองเพาะปลูก
เธอได้รับมาจำนวน 5 เมล็ด แต่ในการทดลองนี้ก็ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับ นักโบราณคดีพฤกษศาสตร์อาวุโส ของมหาวิทยาลัย Bar Illan ที่ให้ความเห็นต่อการทดลองของเธอผ่านสำนักข่าว AFP ว่า
“เธอมันบ้าไปแล้ว มันไม่มีทางได้ผลหรอก”

เธอนำเมล็ดเหล่านี้ไปหา อีเลน โซโลเวย์ (Elaine Solowey) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืน (sustainable agriculture) ซึ่งอยู่ที่เมืองเคทูรา เมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล ติดกับประเทศจอร์แดน
โซโลเวย์ย้อนเล่าว่า คำแรกที่แซลลอนบอกกับเธอตอนยื่นเมล็ดอินทผาลัมให้คือ
“เรามาลองเพาะมันกัน”
“ฉันก็เลยถามกลับไปว่า อะไรนะ? มันอายุเท่าไหร่น่ะ? เธอก็ตอบมาว่า ‘2,000 ปีแล้ว’ ฉันก็เลยตอบกลับไปทันที ‘ฉันปลูกมันไม่ได้หรอก’ เธอก็ยืนยันกลับมาว่า ‘ลองก่อนเหอะ’ “
โซโลเวย์เล่าต่ออีกว่า เธอใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาหาวิธีการเพาะเมล็ดโบราณเหล่านี้ แล้วสุดท้ายก็เลือกใช้ปุ๋ยจากสารเอนไซม์ ( คือกลุ่มโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์สิ่งมีชีวิต พบได้ทั้งในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์) จะไม่ยุ่งกับปุ๋ยเคมีใด ๆ เธอเริ่มทดลองกับ 3 เมล็ดแรกก่อน โดยปลูกในเรือนเพาะปลูกของเธอเอง หลังจากผ่านไปเป็นสัปดาห์ ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับเมล็ดที่เธอเพาะเลย
แซลลอนและโซโลเวย์ยังพยายามต่อไป จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2005 สัญญาณแห่งความหวังก็เกิดขึ้น มีเมล็ดหนึ่งแตกออกแล้วหยั่งรากออกมา
“ตอนนั้นฉันคิดเพียงว่า ว้าว ถ้าฉันรู้ก่อนว่าวิธีนี้จะสำเร็จนะ ฉันน่าจะทำอย่างพิถีพิถันกว่านี้ตั้งแต่แรกแล้ว”
โซโลเวย์กล่าว

ทั้งคู่ตื่นเต้นกันมาก ถึงกับตั้งชื่อให้ต้นอ่อนนี้ว่า “Methuselah” (เมธูเซลาห์เป็นผู้เฒ่าในพระคัมภีร์ไบเบิลและเป็นบุคคลในศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม) แต่แล้วทั้งคู่ก็พบว่าต้น Methuselah เป็นต้นอินทผาลัมตัวผู้ แปลว่ามันจะไม่ออกลูก แต่อย่างน้อยทั้งคู่ก็รู้วิธีการแล้ว คราวนี้ทั้งคู่จะเจาะจงปลูกเมล็ดตัวเมียบ้าง แล้ววิธีการของเธอก็สำเร็จได้จริง ล้มล้างคำสบประมาทของนักวิชาการที่ว่าเธอ “บ้า” ได้สำเร็จ เพราะในปี 2020 “Hannah” ต้นอินทผาลัมตัวเมียก็สามารถออกผลชุดแรกได้มากกว่า 100 ผล ถ้านับมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2021 ฮันนาห์ก็ออกผลมาแล้ว 800 ผล ผลของฮันนาห์ค่อนข้างแห้งไปหน่อย แต่ก็มีรสชาติหวานเหมือนกับน้ำผึ้ง ทีมยังมีแผนการอีกว่าจะนำผลอินทผาลัมของฮันนาห์ออกจำหน่ายเร็ว ๆ นี้

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านนมานี้ ทางทีมได้นำ “Judith” ต้นน้องสาวของฮันนาห์ลงดิน ทีมคาดว่าจะออกผลได้เหมือนฮันนาห์
แซลลอนกล่าว่า การเก็บผลอินทผาลัมจากฮันนาห์นั้นเป็นงานละเอียดอ่อน ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เธอปฏิบัติต่อฮันนาห์เหมือนกับเด็กอ่อนเลย
การคืนชีพให้กับพืชโบราณครั้งนี้ของแซลลอนและโซโลเวย์ไม่เพียงแค่เป็นโครงการบุกเบิกเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณสำคัญที่เป็นความหวังครั้งใหม่ให้กับชาวโลก ในวันที่โลกเราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพอากาศแปรปรวนและทำให้พืชหลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไป
“บางทีนี่อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกเราได้ว่าจากนี้ไปสิ่งอัศจรรย์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราจะไม่หายไปแล้วจากนี้”
ซาราห์ แซลลอน กล่าว
“เมื่อเมล็ดพันธุ์สามารถคงสภาพมาได้เป็นพันปี ซึ่งเราคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้วด้วย แต่แล้วก็……….บูม ด้วยฝ่ามือทองคำของอีเลน ก็สามารถคืนชีวิตมันกลับมาได้”

ยังมีโครงการที่คล้าย ๆ กันและประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
ในปี 2012 นักวิทยาศาสตร์เพาะบัวได้สำเร็จจากเมล็ดพันธุ์อายุกว่า 1,300 ปีที่พบในทะเลสาบแห้งขอดในจีน
นักวิทยาศาสตร์รัสเซียก็สามารถเพาะดอกไม้จากเนื้อเยื่อผลไม้ที่มีอายุ 30,000 ปีได้สำเร็จ หลังจากกู้มาได้จากตะกอนที่ถูกแช่แข็งในไซบีเรีย