วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม ปีเตอร์ เบ็ก (Peter Beck) ผู้ก่อตั้งร็อกเก็ตแล็บ (Rocket Lab) ผู้ผลิตระบบการบินอวกาศและให้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ได้กล่าวนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับแผนพัฒนาจรวดนิวตรอน (Neutron) ผ่านคลิปวิดีโอ พร้อมเผยถึงจุดเด่นโดยกล้าเปรียบเทียบกับสตาร์ชิป (Starship) ของสเปซเอ็กซ์
จรวดนิวตรอนมีีความโดดเด่นคือ ฐานของจรวดจะมีขาแบบยึดตายตัวที่แผ่กว้างแทนขาตั้งที่กางออกมาได้ในตอนลงจอดอย่างที่ใช้อยู่ในจรวดฟาลคอน 9 (Falcon 9) ของสเปซเอ็กซ์ และจะใช้วัสดุน้ำหนักเบาด้วยคาร์บอนไฟเบอร์แทนการเหล็กที่ใช้กับสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์ โดยจะขึ้นรูปด้วยการจัดวางเรียงเส้นใยแบบอัตโนมัติที่คล้ายกับการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตจรวดแบบนี้ควรจะอยู่ในปี 2050 แต่ร็อกเก็ตแล็บจะสร้างขึ้นในวันนี้
ปัจจุบันร็อกเก็ตแล็บมีจรวดอิเล็กตรอน (Electron) สำหรับขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กไปสู่อวกาศ ซึ่งได้ปล่อยสู่อวกาศไปแล้ว 22 ภารกิจ ส่งดาวเทียม (ขนาดเล็ก) สำเร็จมาแล้ว 107 ดวง ซึ่งโดยน้ำหนักบรรทุกแล้วไม่อาจจะเทียบชั้นกับจรวดของสเปซเอ็กซ์ได้
ดังนั้นร็อกเก็ตแล็บจึงมีแผนจะพัฒนาจรวดนิวตรอนที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น โดยบรรทุกน้ำหนักไปยังวงโคจรต่ำของโลกได้ถึง 8,000 กิโลกรัม คิดง่าย ๆ ว่าปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ได้เพิ่มมากขึ้น และบรรทุกน้ำหนัก 1,500 กิโลกรัมเปรียบได้กับการปล่อยยานอวกาศส่งมนุษย์เดินทางไปได้ไกลถึงดาวอังคารหรือดาวศุกร์ อีกทั้งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หากเทียบกับสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์สามารถบรรทุกน้ำหนักไปยังวงโคจรต่ำของโลกได้มากกว่าจรวดนิวตรอนถึง 6 เท่า
จรวดนิวตรอนจะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์อาร์คิมิดีส (Archimedes) เป็นเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่ของร็อกเก็ตแล็บในจำนวน 7 เครื่องด้วยกัน ซึ่งจะทำการทดสอบครั้งแรกในปี 2022
ทีเด็ดของจรวดนิวตรอนก็คือส่วนของแฟริ่ง (Fairing) ฝาครอบสำหรับห่อหุ้มดาวเทียมเพื่อป้องกันผลกระทบจากแรงดันอากาศและความร้อนที่เสียดสีในชั้นบรรยากาศของโลกที่อยู่ตรงปลายจมูกของจรวด (nose cone) จะสามารถกางออกแล้วปล่อยดาวเทียมออกมา และหุบกลับมาปิดคล้ายกลีบของดอกไม้ ซึ่งต่างจากสเปซเอ็กซ์ที่จะกางแล้วถอดแฟริ่งทั้ง 2 ฝาทิ้งลงมา จากนั้นจะใช้เรือติดตาข่ายไปตามเก็บในมหาสมุทรเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งจรวดนิวตรอนจะบินกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อยจรวดแทนการบินกลับมาลงจอดบนเรือโดรนในมหาสมุทร
แม้ว่าแผนการพัฒนาจรวดนิวตรอนจะบ่งบอกถึงจุดเด่นอันมากมาย แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีกรอบเวลาว่าจะปล่อยจรวดครั้งแรกได้เมื่อไหร่ จำได้ว่าก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2024 ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตจะสามารถทำได้เหนือกว่าสเปซเอ็กซ์จริงตามที่คุยหรือไม่
ที่มา : cnet
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส