รัฐบาลกรุงโซล (Seoul) ประเทศเกาหลีใต้ ได้เริ่มพัฒนาและวางระบบ AI บนสะพานข้ามแม่น้ำทั่วกรุงโซล เพื่อรองรับการช่วยเหลือคนที่พยายามจะฆ่าตัวตายบนสะพานข้ามแม่น้ำ โดยมุ่งไปที่การยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุขึ้น เนื่องจากพบสถิติว่า สะพานแม่น้ำฮัน (Han River) หลายแห่งที่ตั้งอยู่ ณ กรุงโซล กลายเป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญที่มีประชาชนชาวเกาหลีใต้พยายามจะฆ่าตัวตายมากถึงปีละประมาณ 500 คน

เว็บไซต์ข่าว The Korea Times ของเกาหลีใต้ได้รายงานว่า รัฐบาลของกรุงโซล โดยความร่วมมือของ ‘สำนักงานดับเพลิงและภัยพิบัติแห่งกรุงโซล’ และ ‘สถาบันเทคโนโลยีแห่งกรุงโซล (SIT)’ ได้พัฒนาระบบนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 และ โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยี AI หรือเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เพื่อศึกษารูปแบบพฤติกรรมของคนที่มีแนวโน้มว่าจะกระทำการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากสะพานโดยใช้กล้องวงจรปิดในการสังเกต

เกาหลีใต้, ฆ่าตัวตาย
สะพานแม่น้ำฮัน (Han River)

หากกล้องวงจรปิดตรวจพบคนที่น่าสงสัย เช่น มีการเดินไปเดินมาบนสะพานมากผิดปกติ หรือยืนอยู่บนสะพานกว่าที่ควรจะเป็น ระบบ AI จะโฟกัสไปที่คนคนนั้น ประกอบกับการการตรวจสอบบันทึกการเฝ้าระวังภัย ข้อมูลประวัติเกี่ยวกับการส่งทีมกู้ภัย รวมทั้งข้อมูลประวัติการสนทนาผ่านทางสายด่วนป้องกันฆ่าตัวตาย เมื่อระบบ AI ตรวจพบบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ระบบจะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง และทำการส่งภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิดและข้อมูลตำแหน่งแบบเรียลไทม์ไปยัง หรือเรือกู้ภัยที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณสะพาน เพื่อเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

เกาหลีใต้, ฆ่าตัวตาย
สะพานแม่น้ำฮัน (Han River)

โฆษกสำนักงานดับเพลิงและภัยพิบัติกรุงโซลกล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายก็คือ ต้องหยุดไม่ให้พวกเขากระโดดลงไปยังแม่น้ำ ถ้าทำเช่นนั้นได้ อัตราการตายก็จะลดลงต่ำกว่า 50% เราต้องทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด 572 ตัวในศูนย์ควบคุม มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยในการที่จะให้พนักงานคอยจับตาเฝ้าระวัง แต่ตอนนี้ ระบบ AI จะทำการชี้บุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย และส่งเสียงเตือน เพื่อให้ทีมกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เร็วขึ้นกว่าเดิม”

เกาหลีใต้, ฆ่าตัวตาย
หน่วยศูนย์กลางของรัฐบาลกรุงโซล ที่คอยเฝ้าระวังการกระโดดสะพานฆ่าตัวตายตลอด 24 ขั่วโมง

เว็บไซต์ข่าว The Korea Times ได้รายงานว่า แม่น้ำฮัน ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรเกาหลี นั้นมีสะพานข้ามแม่น้ำอยู่ถึง 28 แห่ง โดยก่อนหน้าที่จะมีการนำระบบ AI มาใช้ ทางการได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบอื่น ๆ ในการป้องกันการกระโดดสะพานฆ่าตัวตายหลาย ๆ รูปแบบในตลอด 5 ปีหลัง เช่นที่สะพานมาโป (Mapo Bridge) มีการติดตั้งเซนเซอร์ที่ใช้ระบบตรวจจับแบบเลเซอร์ที่จะส่งสัญญาณเมื่อมีผู้สัมผัสราวสะพาน และติดตั้งรั้วนิรภัยความสูง 8 ฟุตเพื่อป้องกันการกระโดดสะพาน

หรือที่สะพานซอกัง (Seogang Bridge) ก็มีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีการพบศพอยู่ใต้สะพาน อีกทั้งในสะพานแต่ละแห่งก็จะมีหน่วยกู้ภัยทางน้ำที่แยกกันตรวจสอบและดำเนินการแยกกันต่างหาก แต่เมื่อมีการใช้ระบบ AI หน่วยกู้ภัยทางน้ำตักซอม (Ttukseon Water Rescue Brigade) จะเข้ามาเป็นศูนย์ควบคุมหลักแบบบูรณาการ ที่ทุกฝ่ายจะส่งข้อมูลเข้ามายังศูนย์กลางนี้ เพื่อให้การควบคุมการกู้ภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เกาหลีใต้, ฆ่าตัวตาย
สะพานแม่น้ำฮัน (Han River)

โดยเจ้าหน้าที่รัฐของกรุงโซลรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า ระบบ AI ป้องกันการกระโดดสะพานนี้ ยังอยู่ในช่วงระหว่างทดลองใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ โดยได้กล่าวว่า “ถ้าหากระบบนี้ได้รับการพัฒนาขึ้น และมีข้อมูลที่มากเพียงพอ คาดว่าน่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลของกรุงโซลกำลังหาทางแก้ไข เนื่องจากจำนวนผู้ฆ่าตัวตายในแม่น้ำฮันเพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และการประสบปัญหาทางด้านการเงินของประชาชน”

ส่วน ‘โค อึน ซอก’ (Ko In-seok) ผู้อำนวยการของ SIT กล่าวว่า “ระบบนี้เป็นตัวอย่างความร่วมมือของรัฐบาลเมือง และสถาบันของเรา เพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายของมนุษย์ที่เกิดจากสาเหตุการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานของแม่น้ำฮาน ซึ่งเราจะได้ดำเนินการในทางปฏิบัติเพื่อการวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความปลอดภัยของประชาชนต่อไป”

เกาหลีใต้, ฆ่าตัวตาย
สะพานแม่น้ำฮัน (Han River)

ประเทศเกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีอัตราตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงสุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในปี 2020 มีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 25.7 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน และการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในหมู่คนวัยหนุ่มสาวมาตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลของเกาหลีใต้กำลังค้นหาและดำเนินมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส