เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียอีกหนึ่งนักเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไป นั่นก็คือ ‘เดสมอนด์ ตูตู’ (Desmond Tutu) บาทหลวงผู้ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1984

Desmond Tutu
บาทหลวง ‘เดสมอนด์ ตูตู’ (Desmond Tutu)

แต่นอกจากเขาจะได้อุทิศชีวิตในการทำงานเพื่อนำสันติภาพมาสู่แอฟริกาใต้ รวมทั้งการรณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในช่วงชีวิตตลอด 90 ปีแล้ว สิ่งสำคัญอย่างสุดท้ายที่เขาได้ทิ้งเอาไว้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากว่าคำสั่งสุดท้ายที่เกี่ยวกับพิธีศพของเขานั้นไม่ใช่เพียงแค่การทำพิธีศพแบบทั่ว ๆ ไป แต่การพิธีศพของเขาจะเป็นพิธีศพที่ไร้มลพิษ และมุ่งเน้นการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมโลกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยแทนที่จะใช้การฝัง หรือเผาเพื่อกำจัดร่างตามปกติ แต่ในการพิธีศพครั้งนี้ ได้นำวิธีการ ‘อะควาเมชัน’ (Aquamation) มาใช้ด้วย ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า วิธีนี้เป็นวิธีกำจัดศพที่ใช้ ‘ของเหลว’ แทนที่การใช้ไฟตามแบบปกติ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นวิธีการที่ใหม่เอี่ยมเสียทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมการกำจัดศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้

‘อะควาเมชัน’ (Aquamation) เป็นนวัตกรรมการกำจัดศพผู้เสียชีวิตที่พัฒนาโดยบริษัท ‘อะควาเมชัน อินดัสตรีส์’ (Aquamation Industries) แห่งประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1888 ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นนวัตกรรมที่ใช้เพื่อกำจัดซากสัตว์ทดลองในคลินิกและห้องปฏิบัติการ การกำจัดซากวัวควายที่ติดเชื้อโรควัวบ้า และใช้ภายในโรงเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกาเพื่อกำจัดร่างที่บริจาคเพื่อการศึกษา ก่อนที่จะเริ่มนำกลับมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการศพมนุษย์ในปี 2014

Desmond Tutu
แผนภาพขั้นตอนการฌาปณกิจด้วยวิธี Aquamation

Aquamation หรือที่เรียกได้หลายอีกหลายชื่อว่า Biocremation (การฌาปณกิจแบบชีวภาพ), Resomation, Flameless Cremation (การฌาปณกิจแบบไม่ใช้ไฟ) และ Water Cremation (การฌาปณกิจแบบใช้ของเหลว) ที่ใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส’ (Alkaline Hydrolysis) โดยที่ร่างของผู้เสียชีวิตจะถูกนำไปใส่ไว้ในเครื่องที่ประกอบด้วยแทงก์ที่มีสภาวะสุญญากาศ ภายในจะบรรจุของเหลวที่ประกอบไปด้วยน้ำและสารเคมีโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) เพื่อทำให้น้ำกลายเป็นน้ำด่าง (Alkaline Water)

Desmond Tutu
เครื่องมือสำหรับการฌาปณกิจศพแบบ ‘อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส’ (Alkaline Hydrolysis)

หลังจากนั้น ร่างที่อยู่ในแทงก์จะค่อย ๆ ถูกให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 90 – 150 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง ด้วยปฏิกิริยาแรงดันที่เกิดจากการให้ความร้อน และกระบวนการไฮโดรไลซิส (hydrolysis – กระบวนการใช้น้ำเข้าไปสลายโมเลกุลให้เล็กลง) จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ย่อยสลายไปหมด เหลือแต่เพียงกระดูกที่นำไปบดจนกลายเป็นผงสีขาว วึ่งต่างจากการใช้ไฟที่จะเหลือเหลือเถ้ากระดูกเป็นเศษสีเทา

Desmond Tutu
กราฟแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการฌาปณกิจรูปแบบต่าง ๆ
ซึ่ง Aquamation หรือ Alkaline Hydrolysis เป็นวิธีการฌาปณกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ข้อดีของ Aquamation นั้นมีอยู่มากมายหลายประการ เช่น การใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าการฌาปณกิจแบบใช้ไฟและพลังงานฟอสซิลถึง 10% และไม่เกิดเขม่าควันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งช่วยให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอน สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่นสารปรอท ฝุ่นละอองขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 35 เปอร์เซนต์

รวมทั้งยังเป็นการประหยัดพื้นที่ในการสร้างสถานที่ฝังศพ โดยเฉพาะในปัจจุบัน การหาที่ดินสำหรับฝังศพในชุมชนเมืองนั้นเริ่มหายาก และราคาที่ดินก็มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูลพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีการใช้ที่ดินสำหรับเป็นสถานที่ฝังศพมนุษย์ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณ 2,500,000 ไร่

หรือหากสงสัยว่า วิธีการ Aquamation จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำ และทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนหรือไม่ ตรงกันข้าม ด้วยวิธีการนี้ กลับใช้น้ำเพียงแค่ 1 ใน 7 ของการฌาปณกิจแบบปกติเท่านั้น ส่วนน้ำที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านกระบวนการแล้ว จะมีเพียงแค่สารประกอบอินทรีย์ที่มีค่าเป็นกลางและปลอดเชื้อ เกลือ และกรดอะมิโน ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย หรือปล่อยลงสู่แหล่งน้ำได้อย่างปลอดภัย

Desmond Tutu
ภาพกราฟิกจำลองการบรรจุร่างในแทงก์ที่มีน้ำด่างบรรจุอยู่

และหากผู้เสียชีวิตมีอุปกรณ์ติดตัวที่ทำจากโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฟันทอง รากฟันเทียม อวัยวะเทียม หรือแม้แต่เครื่องประดับ โดยมากแล้วจะไหม้ไปกับไฟในระหว่างการฌาปณกิจแบบปกติ แต่ด้วยวิธีการ Aquamation อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดมากับผู้เสียชีวิตจะยังคงสภาพเดิม ซึ่งในกรณีของอวัยวะเทียมและเครื่องกระตุ้นหัวใจ ก็สามารถนำกลับไปบริจาคเพื่อใช้งานต่อได้อีก

โดยในปัจจุบันนี้ วิธีการ Aquamation เป็นวิธีการกำจัดศพที่ได้รับรองตามกฏหมายแล้วใน 19 รัฐของสหรัฐอเมริกา และกำลังจะมีการรับรองในอีกหลาย ๆ รัฐเพิ่มเติม รวมทั้งยังมีการใช้ในหลายประเทศ ได้แก่ แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์ และแอฟริกาใต้ ซึ่งจะสามารถนำเอาวิธีการนี้ไปทำการฌาปณกิจให้กับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีข้อถกเถียงในแง่ของหลักการทางศาสนาในบางศาสนาและบางนิกายที่ยังไม่อนุญาตให้ประกอบพิธีฌาปณกิจ ไม่ว่าจะใช้วิธีการเผาด้วยไฟหรือวิธีใด ๆ ก็ตาม

Desmond Tutu
เครื่องมือสำหรับการฌาปณกิจศพแบบ ‘อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส’ (Alkaline Hydrolysis)

ตัวแทนของกองทุน ‘Desmond and Leah Tutu Legacy Foundation’ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับพิธีศพของบาทหลวงคนสำคัญผู้นี้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ณ โบสถ์นิกายแองกลิกัน เมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของเขาเองแก่สำนักข่าว News24 ว่า “บาทหลวงมีความชัดเจนอย่างมากเกี่ยวกับความปรารถนาในพิธีศพของเขา เขาไม่ต้องการจะโอ้อวดหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยใด ๆ ในการจัดงานครั้งนี้ เขาขอให้บรรจุร่างของเขาในโลงศพที่ถูกที่สุด ซึ่งเป็นโลงไม้สนเรียบ ๆ ไร้การสลักตกแต่งใด ๆ และวางตกแต่งพิธีในโบสถ์ด้วยช่อดอกคาร์เนชันจากครอบครัวของเขาเพียงแค่ช่อเดียวเท่านั้น”

พิธีศพบาทหลวง ‘เดสมอนด์ ตูตู’ (Desmond Tutu)
ณ โบสถ์นิกายแองกลิกัน เมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ประเทศแอฟริกาใต้

“เพื่อเป็นการรณรงค์อย่างแข็งขันให้ร่วมกันปกป้องโลกอย่างอ่อนโยน และเพื่อต่อต้านการวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส