ช้างแมมมอธ (Mammoth) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้างที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรปและเอเชียเหนือ เช่น ไซบีเรีย ยกเว้นออสเตรเลียและอเมริกาใต้ เป็นช้างที่มีลำตัวและงาใหญ่กว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก แมมมอธถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อน ในยุคไพลโอซีนตอนต้น และสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง เมื่อ 11,700 ปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในแถบอ่าวซานฟรานซิสโกได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา และประกาศกร้าวว่าพวกเขาจะสามารถคืนชีพให้ช้างแมมมอธได้สำเร็จภายในปี 2027 นี้ โปรเจกต์ดังกล่าวนี้จะดำเนินการด้วยเทคโนโลยี CRISPR (CRISPR/Cas9 คือเทคนิคการตัดต่อยีนซึ่งสามารถแก้ไขความบกพร่องต่างๆ ได้อย่างแม่นยำตรงจุดใน ระดับดีเอ็นเอ) โปรเจกต์นี้ได้รับทุนเริ่มต้นมาแล้ว 15 ล้านเหรียญ
ย้อนไปเมื่อปี 2005 โรเจอร์ คาสทิลโล (Roger Castillo) ชายชาวเท็กซัสผู้หนึ่งได้จูงหมาไปเดินเล่นริมฝั่งแม่น้ำกัวดาลูเป แล้วเขาก็บังเอิญเจอโครงกระดูกใหญ่โผล่พ้นมาจากโคลนริมชายฝั่ง กลายเป็นว่านั่นคือการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะนั่นคือฟอสซิลของโคลัมเบียน แมมมอธ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 10,000 ปี การค้นพบครั้งนั้น เป็นการยืนยันสมมติฐานที่ว่า นี่คือแมมมอธสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด และเคยมีพวกมันอยู่ทั่วไปหมดในย่านซิลิคอนแวลเลย์
ภายหลังโครงกระดูกแมมมอธชุดนี้ ได้ถูกนำไปขึ้นแบบจำลองว่าตอนแมมมอธตัวนี้มีชีวิตจะมีรูปร่างลักษณะเช่นไร และนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก (Children’s Discovery Museum) มีการตั้งชื่อเล่นให้ด้วยว่า “Lupe” ตามชื่อแหล่งที่ค้นพบ จากวันนั้น ร่างของ ‘ลูเป’ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่มนุษย์ได้เคยรู้จักแมมมอธที่สุดแล้วนับตั้งแต่อดีตกาลมา แต่จากนี้ไปจะไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เราอาจจะได้เห็นแมมมอธตัวเป็น ๆ กันในอีกไม่นานนี้
“นี่มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่มาก ๆ สำหรับเราเลยละ ฉันนี่แทบไม่กล้าจินตนาการเลยว่ามันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร”
แมริลี เจนนิงส์ (Marilee Jennings) ผู้อำนวยการบริหารพิพิธภัณฑ์เด็ก ซานโฮเซ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นึกย้อนไปในปี 1993 ที่เราได้เห็นเทคโนโลยีที่ว่านี้ในหนัง Jurassic Park แต่ไม่น่าเชื่อว่าในอีก 30 กว่าปีต่อมา เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้
เทคโนโลยีที่ว่านี้มีชื่อว่า “การตัดต่อพันธุกรรม CRISPR” ที่ร่วมคิดค้นขึ้นมาโดย ศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เดาด์นา (Jennifer Doudna) เธอและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้กลไกทางพันธุกรรมคืนชีพให้กับแมมมอธได้สำเร็จภายในปี 2027 นี้
“ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเราฟื้นคืนชีพให้กับช้างแมมมอธขนยาว แต่เป็นการสร้างช้างขึ้นมาใหม่ผ่านกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรม”
ดร.แจ็ก เจิ้ง (Jack Tseng) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาเชิงบูรณาการ แห่งมหาวิทยาลัย ยูซี เบิร์คเลย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ผู้สื่อข่าวยังถามย้ำต่อไปกับ ดร.แจ็ก เจิ้ง อีกว่า โปรเจกต์นี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้จริงเพียงใด
“ผมคิดว่าประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในวันนี้ที่ทำให้หลายอย่างเป็นจริงได้แล้ว เราก็สามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นได้เช่นกัน”
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังได้เผยถึงจุดมุ่งหมายในการคืนชีพเหล่าแมมมอธให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็เพื่อให้เหล่าแมมมอธได้ช่วยลดปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ชาวโลกเผชิญวิกฤตกันอยู่ เพราะในขณะนี้จำนวนพืชพรรณทางแถบอาร์กติกลดจำนวนลงไปมาก ทำให้เกิดการเสียสมดุลและทำให้มีการแพร่กระจายของคาร์บอนมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์มองว่าในอดีตกาลนั้นเหล่าแมมมอธเคยช่วยปรับสมดุลต่อภาวะเหล่านี้ได้ เมื่อเราฟื้นคืนชีพแมมมอธกลับมา พวกมันน่าจะช่วยปรับสมดุลให้สำเร็จได้อีกครั้ง
ย้อนกลับไปมองบทเรียนจากในหนัง Jurassic Park อีกครั้ง ที่สุดท้ายเราได้เห็นไดโนเสาร์ออกมาอาละวาดจนเกินที่จะควบคุมได้ วันนี้ที่เทคโนโลยีใกล้มาถึงจุดนั้นแล้ว ต่อให้เราฟื้นคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์พวกนี้กลับมาได้ แต่ที่จริงแล้วเราควรทำเช่นนี้หรือไม่ ดร.แจ็ก เจิ้ง ก็ตอบคำถามข้อนี้ว่า ทางทีมนักวิทยาศาสตร์จะร่วมทดสอบกันอีกมากก่อนที่จะเดินหน้าในก้าวต่อไป
“ในความคิดผมนะ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถทำเรื่องดี ๆ ได้อีกมาก จากการใช้เทคโนโลยีนี้มาปกป้องและอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไว้ได้ ส่วนเรื่องที่จะสร้างอะไรขึ้นมาในห้องแล็บนั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่เราอาจจะเพาะสร้างขึ้นมาแล้วค่อยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่เราจะยังไม่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์พาเราไปถึงจุดนั้นหรอก จนกว่าเราจะศึกษาทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสียก่อน”
ดร.แจ็ก เจิ้ง ยังทิ้งท้ายไว้ว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์มี DNA ของสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกหลายสายพันธุ์เก็บรักษาไว้ ฉะนั้นการคืนชีพแมมมอธนี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น