หากใครชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านอวกาศ คงจะพอคุ้นเคยกับภาพดังกล่าวกันมาบ้าง แน่นอนว่า ภาพนักบินอวกาศผู้โดดเดี่ยวกำลังล่องลอยท่ามกลางบรรยากาศอันเวิงว้าง ยิ่งชวนให้เรารู้สึกว่า โลกใบนี้และตัวตนของเรานั้นกระจ้อยร่อยเพียงใด แต่นั่นไม่ใช่กับข้อสังเกตของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัย จนนำมาสู่การพูดถึงถกเถียงมากมายในโลกโซเซียลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความร้อนแรงของประเด็นดังกล่าว เริ่มจากข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่มีใจความว่า “Insane picture of astronaut Bruce McCandless II, the first person to conduct an untethered free flight in space” หรือแปลเป็นไทยได้ทำนองว่า “ภาพบ้า ๆ ของ บรูซ แม็คแคนด์เลสที่ 2 นักบินอวกาศคนแรกที่เดินในอวกาศแบบไม่มีสายยึดยาน” และเพิ่งทวิตไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ยอดรีทวีตกลับท่วมท้นอย่างไม่น่าเชื่อ

และนั่นก็นำมาสู่มหากาพย์ความคิดเห็น บ้างก็บอกว่ามันบ้ายิ่งกว่าที่ยังมีคนคิดว่านี่เป็นเรื่องหลอกลวง รวมถึงเสียดสีทำนองว่า นี่ไงล่ะ โลกที่เต็มไปด้วยการบีบอัดภาพ และภาพดิจิทัลปลอม ๆ

ในขณะที่กลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่าเป็นภาพจริงก็พากันบอกว่าเป็นภาพคลิปอาร์ตบ้าง ภาพตัดต่อบ้าง รวมถึงเสียดสีทำนองว่า นี่ไงล่ะ โลกที่เต็มไปด้วยการบีบอัดภาพ และภาพดิจิทัลปลอม ๆ พร้อมประเด็นชวนหัวอีกมากมาย;

  • ดูท้องฟ้านั่นสิ ทำไมมีดวงดาวน้อยนิด (โลกเราสะท้อนแสงสว่างกว่าไง ก็เหมือนดูดาวในเมืองที่มีไฟรบกวนมากมายน่ะ)
  • เห็นไหมเนี่ยโลกแบนจริง ๆ ด้วย (โอ้ ไปกันใหญ่)
  • มันเป็นไปไม่ได้เลยที่นักบินอวกาศจะไปลอยเท้งเต้งโดยไร้สายเซฟตี้ที่ยึดติดกับยาน แล้วยิ่งอยู่ในความเร็วของวงโคจรโลกเนี่ยนะ ไม่อ้วกแตกไปเลยเรอะ (เออ…เราเองก็อยู่บนโลกที่หมุนรอบตัวเองตลอดเวลาเหมือนกันนะ หมุนเร็วซะด้วย)

และที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง รวมถึงคนที่โพสต์ข้อความต้นทางก็มักเป็นคนในแวดวงบิตคอยน์ทั้งสิ้น อืม…มันเชื่อมโยงกันอย่างไรนะ

แต่ในบรรดาคนที่ทุ่มเถียงกันก็มีความคิดเห็นพอที่จะให้ความกระจ่างอยู่บ้าง นั่นคือมีคนให้ข้อมูลว่ามันเป็นภาพจริงที่มีการ “เติมแต่งตัดต่อ” ในส่วนที่เป็นภาพพื้นโลกให้เห็นภูเขาบนโลกแจ่มชัดขึ้น

เพื่อยืนยันในเรื่องนี้ เราจึงไปค้นคลังภาพของนาซา จนเจอภาพต้นฉบับจนได้

(ติดตามความจริงต่อ ไปอ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

แบบไกล ๆ
Credit : NASA

ภาพต้นฉบับนี้ถูกถ่ายขึ้น ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1984 และอย่างที่เห็นในภาพ นักบินอวกาศบรูซ แม็คแคนด์เลสที่ 2 อยู่ไกลออกไปจากช่องบรรทุกสินค้าของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Challenger) ของนาซา ประมาณ 100 เมตร โดยไม่มีสายใด ๆ ยึดตัวเขาไว้กับกระสวยอวกาศแต่อย่างใด เขาจึงถือเป็นคนแรกที่ได้สัมผัสกับกิจกรรมการเดินในอวกาศแบบ “อิสระ” (Untethered space walk) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจ STS 41-B

แบบซูม ๆ
Credit : NASA

สำหรับข้อสงสัยว่า แล้วเขาสามารถกลับขึ้นกระสวยอวกาศได้อย่างไร นาซาอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะอุปกรณ์ขับเคลื่อนที่เรียกว่า Manned Maneuvering Unit (MMU) ที่ยิงไอพ่นไนโตรเจนที่บรรจุอยู่ภายใน ช่วยควบคุมทิศทางและนำพานักบินอวกาศกลับเข้าสู่กระสวยอวกาศ และแม้ว่าเจ้าเครื่องนี้มีมวลมากกว่า 140 กิโลกรัม แต่เมื่ออยู่ในอวกาศที่มีสภาวะไร้น้ำหนัก น้ำหนักนั้นก็ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อการล่องลอยไปมา ปัจจุบัน MMU ถูกแทนที่ด้วยหน่วยขับเคลื่อนที่คล่องตัวกว่านามว่า SAFER backpack propulsion unit แล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ใช้เป็นฐานข้อมูล จนไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หรืออนิเมะอวกาศอยู่หลายเรื่อง

และถ้ายังไม่น่าเชื่อถือพอ นาซาก็มีวิดีโอเผยแพร่ให้เรารับชมด้วย ลองชมกันได้

สรุปก็คือ ภาพในทวีตนั้นเป็นภาพตัดต่อจริง แต่ตัดต่อให้พื้นผิวโลกที่ปรากฏในภาพดูคมชัดขนาดเพี้ยนไปจากภาพจริง โดยใช้ภาพที่ถ่ายจากเที่ยวบินโททรอโต-ปักกิ่ง แต่เนื้อหาหลักของภาพที่เป็นที่ถกเถียงกันนั้นกลับไม่ได้เป็นเรื่องหลอกลวงหรือเรื่องบ้า ๆ ตามที่ผู้โพสต์ทวีตรายแรกกล่าวอ้างแต่อย่างใด มันคือเรื่องจริงแท้ที่มีการเผยแพร่มานานแล้วต่างหาก

แต่แม้จะมีแหล่งที่มาที่ไปชัดเจน ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่า นี่คือเรื่องหลอกลวง ชวนให้เรานึกถึงภาพยนตร์ Don’t look up ที่ต่อให้มีหลักฐานชัดแจ้งเพียงใด แต่หากใจของมนุษย์นั้นปักอยู่ในชุดความคิดความเชื่อนั้นแล้วก็คงยากที่จะอธิบาย และทำให้เขามองความเป็นจริงได้ ยิ่งมีเรื่องของผลประโยชน์เกี่ยวข้องยิ่งไปกันใหญ่ ชวนให้สงสัยว่า หรือนี่อาจจะไม่ได้เกิดจาก “ความไม่รู้จริง” แต่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เกิดจาก “ภาวะหิวแสง” เพื่อสร้างยอดติดตามกันนะ ?

อ้างอิง

NASA1 / NASA2

NDTV

Reddit

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส