เมื่อปี 2019 มีการเผยแพร่ผลการวิจัยที่น่าสนใจลงในวารสาร The journal Circulation: Cardiovascular Quality and Outcomes ผลการวิจัยนี้เปิดเผยว่า ผู้ที่เลี้ยงหมาจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยสาเหตุทั่วไปน้อยกว่าคนที่ไม่เลี้ยงหมาถึง 24% และมีความเสี่ยงจากอาการหัวใจวายน้อยลงอีก 33% ซึ่งนับว่าเป็นการค้นพบที่แปลกใหม่และท้าทายในวงการแพทย์อย่างมาก
ดร.เฮเดอร์ วาร์เรช (Dr.Haider Warraich) ผู้อำนวยการฝ่ายโรคหัวใจล้มเหลว ที่สถาบันดูแลสุขภาพทหารผ่านศึก บอสตัน และเป็นอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด และเป็นผู้เขียนหนังสือ “State of the Heart: Exploring the History, Science and Future of Heart Disease” ก็ยังตื่นเต้นกับผลการวิจัยนี้ ถึงกับเอ่ยปากชื่นชมว่า
“มันน่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก”
“ผมว่าคนที่เลี้ยงหมาทั่วไปก็ไม่ได้คาดคิดถึงข้อดีเรื่องนี้กันหรอกนะ เพราะคนที่รักหมาก็คิดว่าอยากจะดูแลหมากันแค่นั้นแหละ ไม่ได้คิดว่ามันจะย้อนมามีผลดีต่อสุขภาพตัวเราเองกันหรอก แต่ผลการศึกษาเรื่องนี้กลับบอกว่าการเลี้ยงหมานั้นมีผลดีต่อสุขภาพคนเลี้ยงเองพอ ๆ กับสุขภาพของหมา”
“แต่ผลการวิจัย ณ จุดนี้ยังไม่เพียงพอที่ผมจะนำไปแนะนำบรรดาคนไข้หรอกนะ ถ้าจะไปถึงจุดนั้น มันยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้อีก”
ในการวิจัยเรื่องนี้นั้น ทีมงานวิจัยได้นำข้อมูลที่ได้มาจาก ศูนย์ข้อมูลทะเบียนคนไข้แห่งสวีเดน ข้อมูลชุดนี้จะมีรายละเอียดของคนไข้ชาวสวีเดนอายุตั้งแต่ 40 ถึง 85 ปี ที่เคยมีอาการหัวใจวาย และเส้นเลือดในสมองแตก ตั้งแต่มกราคม 2001 มาจนถึง ธันวาคม 2012 และข้อมูลอีกชุดก็มาจาก ชมรมสุนัขสวีเดน และ รายชื่อสุนัขที่ผ่านการลงทะเบียนในสวีเดน
นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้นนี้ ทีมวิจัยยังได้รวบรวมข้อมูลจากคนไข้อีก 181,696 ราย ที่เคยมีประวัติว่ามีอาการหัวใจวาย แล้วพบว่า 5.7% ในกลุ่มนี้เลี้ยงหมา และคนไข้ที่เคยมีอาการเส้นเลือดในสมองแตกจำนวน 154,617 ราย ก็พบว่าในจำนวนนี้มี 4.8% ที่เลี้ยงหมา
เมื่อทีมวิจัยได้ข้อมูลทั้งหมดมาก็นำมาพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ, สถานะการสมรส, จำนวนลูก ๆ ที่อยู่ร่วมบ้าน, รายได้ แล้วทีมวิจัยก็พบคำตอบว่า คนไข้ที่อยู่ตัวคนเดียวแล้วเคยมีอาการหัวใจวายมาก่อนหน้านี้ หลังจากที่รับหมามาเลี้ยงแล้ว โอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะลดน้อยลงถึง 33% เมื่อเปรียบเทียบกับคนไข้ที่ไม่ได้เลี้ยงหมา และเมื่อเปรียบเทียบกับคนไข้ที่อยู่ร่วมกับคนอื่น อัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตยังลดลงมาแค่เพียง 15% ถือว่ายังมีความเสี่ยงสูงกว่าคนไข้ที่เลี้ยงหมาเสียอีก
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วการเลี้ยงหมานั้นช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้อย่างไร
โทฟ ฟอล (Tove Fall) ศาสตราจารย์ทางด้านระบาดวิทยาในระดับโมเลกุล แห่งมหาวิทยาลัยอุปซอลา ในสวีเดน หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยได้อธิบายไว้ว่า
“เรารู้มาก่อนแล้วว่า ความเหงา และการอยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำอะไรในแต่ละวัน ล้วนเป็นสาเหตุหลักต่อการเสียชีวิตก่อนกำหนด ตรงนี้แหละที่หมาได้มาช่วยให้เจ้าของได้มีกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง ได้พามันไปเดินเล่น เรายังสำรวจพบอีกว่า บรรดาเจ้าของหมานั้นล้วนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้น ได้มีโอกาสพูดคุยทักทายกับเพื่อนบ้านบ้าง”
มาถึงอีกผลการวิจัยที่ได้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน การวิจัยนี้มาจากข้อมูลของบุคคลจำนวน 3,837,005 คน และนำมาเปรียบเทียบกับอีก 10 การวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ในจำนวนประชากรทั่วไปนั้น คนที่เลี้ยงหมามีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุทั่วไป น้อยกว่าคนที่ไม่เลี้ยงถึง 24% และคนที่เลี้ยงหมาจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) น้อยกว่าคนที่ไม่เลี้ยงถึง 65% นับว่าเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันจนน่าประหลาดใจอย่างมาก
ดร.แคโรไลน์ เครเมอร์ (Dr. Caroline Kramer) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ ประจำมหาวิทยาลัยโตรอนโต หัวหน้าทีมวิจัยในเรื่องนี้ ได้เปิดเผยว่า เธอได้ทำการวิจัยย่อยในหลาย ๆ แขนง อย่างเช่น สุ่มหาตัวอย่างคนไข้ว่าเลี้ยงหมาหรือไม่เลี้ยง แล้วเธอก็พบว่า คนที่เลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อนนั้นจะมีอัตราความดันโลหิตลดลง ระดับคอเลสเตอรอลลดต่ำลง และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
มีคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมถึงต้องระบุเจาะจงว่าเป็นหมาเท่านั้น ทำไมไม่เป็นสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ คำตอบของ ดร.เครเมอร์ก็คือ หมาจะต้องการให้เราจูงไปเดินเล่น
“ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นคนเลี้ยงหมานะ ฉันเห็นเองเลยว่าจำนวนก้าวในแต่ละวันของฉันเพิ่มขึ้น หลังจากที่ฉันเริ่มเลี้ยงหมา”
นอกเหนือจากผลวิจัยหลักข้างต้นทั้งสองแล้ว ก็ยังมีผลการวิจัยอื่น ๆ อีกที่ยืนยันว่าการเลี้ยงหมาเป็นเพื่อนจะช่วยลดระดับ ‘คอร์ติซอล’ ฮอร์โมนความเครียด
เนดา กูลด์ (Neda Gould) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้อำนวยการโครงการฝึกทำสมาธิ ที่โรงเรียนแพทย์ จอห์น ฮอปกินส์ กล่าวถึงผลการวิจัยของเธอว่า
“เมื่อร่างกายเราตอบสนองต่อความเครียดถี่มากขึ้นแล้วมันจะทำให้ร่างกายเราเสื่อมสมรรถภาพได้”
อุปสรรคอย่างหนึ่ง ที่บางคนยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะเลี้ยงหมา เพราะกังวลว่าจะเป็นภาระมากเกินไป ทั้งค่าอาหาร ค่าวัคซีน การดูแลเอาใจใส่ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า งั้นลองเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ที่ตัวเล็กกว่าดูก็ได้ อย่างเช่น ปลาทอง เพราะต่อให้เป็นสัตว์เลี้ยงอะไรก็ตาม ก็ล้วนส่งผลดีต่อสภาพจิตเราทั้งสิ้น เคยมีการวิจัยพบว่าแม้แต่การเลี้ยง ‘จิ้งหรีด’ ก็ยังช่วยให้คนเลี้ยงมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้นได้
มีอีกการวิจัยหนึ่งที่พบข้อดีของการเลี้ยงหมา นั้นมาจาก ‘ความดูแลเอาใจใส่’ ที่เจ้าของมีต่อหมา
ศจ.สจวร์ต แชงค์แมน (Stewart Shankman) หัวหน้าฝ่ายจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ธ เวสเทิร์น กล่าวว่า
“ข้อดีที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนเราก็คือ ‘ความเอื้อเฟื้อ’ ที่เรามีต่อผู้อื่น นั่นก็คือการให้ความสำคัญต่อผู้อื่นบ้าง นอกเหนือจากตัวเราเอง”
พอสรุปได้ว่า การเลี้ยงหมานั้นนอกจากมีผลดีต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายด้วย สืบเนื่องจากกิจวัตรในการพาหมาไปเดินเล่น ในส่วนนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบวัฒนธรรมการเลี้ยงหมาในแต่ละท้องถิ่นด้วย ประเทศทางตะวันตกค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจูงหมาเดินเล่นอย่างมาก ถึงกับมีอาชีพรับจ้างจูงหมาเดินเล่น ผิดกับประเทศทางแถบเอเซียหรือบ้านเรา ที่ปล่อยหมาวิ่งเล่นกันเอง ก็คงจะเหลือแต่ข้อดีต่อสุขภาพจิตเท่านั้นแหละนะ