เมื่อไม่นานนี้ คณะนักสัตววิทยาชาวจีนได้ค้นพบเหตุผลที่แพนด้ายักษ์ยังคงมีรูปร่างอ้วนกลม แม้ว่าเกือบจะเป็นสัตว์กินมังสวิรัติก็ตาม โดยการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส์ (Cell Reports) เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiota) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของแพนด้าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
การศึกษาระบุว่า อาณานิคมของโปรไบโอติก (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ตัวดีชนิดหนึ่งของแพนด้า จะขยายตัวตามฤดูกาลในช่วงที่มี ‘หน่อไม้’ โดยหน่อไม้นั้นเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและแพนด้าชอบกิน โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวจะช่วยให้แพนด้ากักเก็บไขมันได้มากขึ้น เพื่อชดเชยให้ร่างกายในยามหิวโหยและมีเพียงใบไผ่ให้เคี้ยว
ทีมวิจัยที่นำโดย เว่ยฝู่เหวิน นักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบว่าในฤดูกินหน่อไม้ แพนด้าป่าในเทือกเขาฉินหลิ่งจะมีระดับแบคทีเรียที่เรียกว่า คลอสตริเดียม บิวทิไรคัม (Clostridium butyricum) ในลำไส้สูงกว่าช่วงฤดูกินใบไผ่อย่างมีนัยสำคัญ
คณะนักวิจัยปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้จากป่า สู่หนูทดลองที่ปราศจากเชื้อโรค และเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากไผ่ ผลปรากฎว่าหนูซึ่งถูกปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้ในช่วงฤดูกินหน่อไม้ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า บิวทิเรต (Butyrate) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการย่อยของแบคทีเรียคลอสตริเดียม บิวทิไรคัม สามารถปรับปรุงการแสดงออกของยีนจังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythm Gene) ที่เรียกว่าเพอร์2 (Per2) ได้ โดยยีนตัวนี้มีหน้าที่เพิ่มการสังเคราะห์และกักเก็บไขมัน
หวงกว่างผิง ผู้เขียนงานวิจัยคนแรกจากสถาบันสัตววิทยาฯ กล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเจอความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้กับลักษณะทางพันธุกรรม (Phenotype) ของแพนด้า” โดยทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะคัดแยกจุลินทรีย์ในลำไส้ของแพนด้าเพิ่มเติม และค้นหาบทบาทที่จุลินทรีย์เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของแพนด้า
ทั้งนี้ เว่ยกล่าวว่า “การระบุชนิดแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสัตว์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะวันหนึ่งเราอาจจะสามารถรักษาโรคบางชนิดด้วยโปรไบโอติกได้”
ที่มา : XINHUA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส