ความหวังที่จะทำให้คนตาบอดสามารถกลับมามองเห็นได้นั้นเริ่มมีความหวังขึ้นอีกเรื่อย ๆ นักวิจัยจากเยอรมนีได้ตีพิมพ์ร่างงานวิจัยใหม่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางและหลีกเลี่ยงอุปสรรคกีดขวางได้โดยที่เพียงแค่สวมแว่นตาที่มีระบบอินฟราเรดและติดแผ่นส่งสัญญาณไว้ที่แขนได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า

ตาบอด
กล้องตัวต้นแบบที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

‘มานูเอล ซาห์น’ (Manuel Zahn) และ ‘อาร์มากัน อาหมัด คาห์น’ (Armaghan Ahmad Khan) ผู้วิจัยร่วมจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการ (Center for Digital Technology and Management) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิก (Technische Universität München) ประเทศเยอรมนี ได้ตีพิมพ์ร่างงานวิจัยในเว็บไซต์ arXiv ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

ตาบอด
โครงสร้างของกล้องตัวต้นแบบที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

ซึ่งเป็นโครงร่างงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ประกอบไปด้วยแว่นตาที่มีเทคโนโลยีอินฟราเรด และสายรัดที่แขนเพื่อส่งสัญญาณเตือนที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และสามารถใช้มือทั้งสองเพื่อในการใช้งานและช่วยสำรวจสภาพแวดล้อมได้ง่ายกว่าการใช้ไม้เท้า ที่ปกติจะต้องจับไม้เท้าด้วย ทำให้เหลือมือในการใช้งานเพียงข้างเดียว ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังไม่สามารถวัดระยะของวัตถุที่อยู่ไกลออกไปได้อีกด้วย

ความหวังที่จะทำให้คนตาบอดสามารถกลับมามองเห็นได้นั้นเริ่มมีความหวังขึ้นอีกเรื่อย ๆ นักวิจัยจากเยอรมนีได้ตีพิมพ์ร่างงานวิจัยใหม่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินทางและหลีกเลี่ยงอุปสรรคกีดขวางได้โดยที่เพียงแค่สวมแว่นตาที่มีระบบอินฟราเรดและติดแผ่นส่งสัญญาณไว้ที่แขนได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า
กล้อง ‘Intel RealSense Camera D415’

โดยอุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วยแว่นตาที่ผู้วิจัยได้นำเอากล้อง ‘Intel RealSense Camera D415’ 2 ตัว ซึ่งเป็นกล้องแบบ Depth Camera (กล้องตรวจจับความลึกวัตถุ) ที่ใช้อินฟราเรดในการตรวจจับความลึกของวัตถุแบบ 3 มิติ เพื่อนำมาคำนวณระยะของวัตถุที่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ และสามารถใช้ได้ในทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งผู้วิจัยกล่าวว่าที่เลือกใช้กล้อง Intel RealSense เพราะว่ามีน้ำหนักเบากว่า เล็กกว่า และต้นทุนถูกกว่ากล้อง Kinect ที่ผลิตโดย Microsoft

ตาบอด
อุปกรณ์ภายในสายรัดแขนของเครื่องต้นแบบ ประกอบด้วยมอเตอร์ 25 ตัว ซีพียู และแบตเตอรี่

โดยกล้องนี้จะบรรจุอยู่ในกรอบแว่นตาที่ผลิตขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยเมื่อกล้องทั้ง 2 ตัวจับภาพวัตถุที่อยู่ตรงหน้าได้แล้ว จะทำการตรวจจับความลึกของพื้นที่โดยรอบผู้ใช้ด้วยอินฟราเรด ก่อนจะประมวลผลด้วยซีพียูขนาดเล็กที่รันด้วยระบบปฏิบัติการ Linux ออกมาเป็นแผนที่ 3 มิติ และทำการส่งข้อมูลผ่านสายมายังปลอกรัดแขน ซึ่งภายในจะบรรจุมอเตอร์ 25 ตัวและแบตเตอรี่

เมื่อกล้องสามารถตรวจจับวัตถุที่อาจกีดขวางได้ ก็จะส่งสัญญาณสั่นไปที่มอเตอร์บนปลอกแขนเฉพาะจุด เพื่อให้ผู้ใช้งานรับทราบว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง เช่น ถ้าสิ่งกีดขวางอยู่ทางซ้าย มอเตอร์ก็จะสั่นเฉพาะด้านซ้าย และเมื่อผู้ใช้งานยิ่งเดินก้าวเข้าไปใกล้ก็จะยิ่งสั่นแรงขึ้นกว่าเดิม (คล้ายกับระบบ ‘Haptic feedback’ หรือระบบสั่นในจอย DualShock ของเครื่องเกม PlayStation)

ตาบอด
ระบบตรวจจับความลึกวัตถุจะตรวจจับสิ่งกีดขวาง และประมวลผลเป็นแผ่นที่ส่ามมิติและส่งมาที่ปลอกแขน หากพบสิ่งกีดขวาง มอเตอร์จะสั่นตามตำแหน่งที่พบสิ่งกีดขวาง

ที่สำคัญคือ ด้วยคุณสมบัติของ Intel RealSense นั้นสามารถใช้อินฟราเรดและตรวจจับได้แม้แต่ในที่มืด ข้อดีของอุปกรณ์นี้คือ สามารถนำทางได้แม้แต่ในสถานที่ที่มืดสนิท และตรวจจับวัตถุที่อยู่ไกล ๆ ได้เลย โดยทีมนักวิจัยได้กล่าวว่า “แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ผู้พิการทางสายตาก็ยังมีปัญหาในการนำทาง แม้ว่าไม้เท้าจะเป็นเครื่องมือที่คนตาบอดใช้มากที่สุด และมันก็ช่วยให้สามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ใช้งานได้ดี แต่ก็ยังขาดความสามารถในการตรวจจับสิ่งกีดขวางที่อยู่ห่างไกลออกไป”

ตาบอด
ภาพการทดสอบในสภาพแสงที่แตกต่างกันทั้งมืดและสว่าง

จากการทดสอบอุปกรณ์ในสถานการณ์จำลองหลากหลายแบบ เช่นในสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางทั้งในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงสถานที่ที่มีสภาพแสงแตกต่างกัน ทั้งสว่างและมืดมิด และการปรับปรุงอุปกรณ์หลายเวอร์ชัน พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ใช้นำทางได้อย่างถูกต้องถึง 98,6% ผู้เข้ารับการทดสอบทั้ง 5 คนสามารถผ่านการทดสอบในสถานการณ์จำลองได้ดีขึ้นในครั้งแรก และเรียนรู้ในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ดียิ่งขึ้นในการทดสอบครั้งหลัง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังจะพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เช่น ระบบการสั่นแบบใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส