นี่คือภาพอะไร? ทำไมกลุ่มก้อนของกาแล็กซีและดวงดาวจึงดูไม่เป็นทรงก้นหอยแบบที่เราคุ้นตา? แถมยังดูไปดูมาดันไปคล้าย ยานอวกาศ USS Enterprise จากภาพยนตร์มหากาพย์ Star Trek ซะอีก! 

ภาพที่น่าตื่นตานี้ ที่จริงคือกลุ่มของกาแล็กซีถึง 3 กาแล็กซี มีชื่อเรียกรวมกันว่า NGC 7764A กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ได้บันทึกภาพนี้โดยใช้ทั้งกล้องขั้นสูงสำหรับการสำรวจ (Advanced Camera for Surveys)  และกล้องมุมกว้าง 3 (Wide Field Camera 3) และนาซาได้เผยแพร่ภาพ เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมานี่เอง

เมื่อดูจากภาพกาแล็กซีทั้งสองที่มุมขวาบนของภาพมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หางของกลุ่มดวงดาวและก๊าซที่ทอดยาวออกไปนั้นให้ความรู้สึกว่าทั้งคู่เพิ่งพุ่งชนด้วยความเร็วสูง มุ่งหน้าไปสู่กาแล็กซีรูปลูกโบว์ลิ่งที่ด้านซ้ายล่างของภาพ

ทว่า ในความเป็นจริง ปฏิสัมพันธ์ต่อกันของกาแล็กซีทั้งสองนั้นเกิดขึ้นกินเวลายาวนานมาก และกาแล็กซีก็แทบจะไม่ได้ชนกันโดยตรง ยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่า กาแล็กซีที่อยู่ทางซ้ายล่างมีปฏิสัมพันธ์กับอีก 2 กาแล็กซีนี้หรือไม่ แม้ว่ามันจะดูเหมือนว่าอยู่ใกล้กันมากในอวกาศ

เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจของ NGC 7764A คือมันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 425 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวฟีนิกซ์ และยังเป็นตัวอย่างการตั้งชื่อทางดาราศาสตร์ที่ชวนหัว (มี 3 แต่เรียก 1) ซึ่งเป็นเพราะเป็นการตั้งชื่อในแคตตาล็อกที่รวบรวมเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ซึ่งเทคโนโลยียังไม่ล้ำพอให้เราเห็นชัด ๆ ว่ามันมีอยู่ถึง 3 กาแล็กซีด้วย โดยปัจจุบัน มีการ “เติม” หมายเลขให้เพิ่มเพื่อให้กาแล็กซีทั้งสามถูกเรียกแยกจากกันเป็น NGC 7764A1, NGC 7764A2 และ NGC 7764A3

หลัง ๆ มานี้ ด้วยเทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์ที่เรามี ทำให้มีการพบสิ่งแปลกตามากมายในห้วงจักรวาล ช่างน่าคิดว่าหากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีเทคโนโลยีล้ำที่สุด จะช่วยให้เราได้เห็นอะไรแปลกได้อีกมากแค่ไหน…อดใจรอคุณเจมส์ เวบบ์ปฏิบัติงานไม่ไหวแล้วล่ะ!

อ้างอิง

NASA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส