สีสันและลวดลายบนตัวสัตว์นั้นเกิดขึ้นจากการวิวัฒนาการเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป บางชนิดมีจุดประสงค์เพื่อให้มันโดดเด่นสำหรับคู่ครอง บางชนิดมีสีสันเพื่อเตือนผู้ล่าว่ามันมีพิษ แต่สำหรับนักล่าซุ่มโจมตีอย่างเสือ การที่สัตว์ตัวอื่นมองไม่เห็นตัวมันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการล่าเหยื่อ แต่ในทุกสีที่มีในโลก ทำไมเสือถึงตัวสีส้ม?
หากมองจากมุมมองของเรา สีส้มควรจะเหมาะสำหรับอะไรที่ต้องการความเด่นและเห็นได้ชัด ทำให้ในสายตาของมนุษย์ สีส้มของเสือเป็นสีที่โดดเด่นอย่างมากเมื่อเทียบกับสีในธรรมชาติ
การมองเห็นของมนุษย์เกิดจากแสงภายนอกที่สะท้อนวัตถุเข้ามาที่เรตินาซึ่งอยู่ด้านหลังของลูกตา และส่งข้อมูลวัตถุผ่านเส้นประสาทตาสู่สมองที่แปลงข้อมูลเป็นภาพวัตถุนั้น เรตินาของมนุษย์จะมีเซลล์รูปแท่งสำหรับรับรู้ความสว่างและความมืด และมีเซลล์รูปกรวย 3 ประเภทสำหรับรับรู้สี ได้แก่ น้ำเงิน เขียว และแดง มนุษย์จึงสามารถรับรู้สีหลักได้ 3 สี (trichromatic color vision) รวมถึงสีที่เกิดจากการผสมกันของสีสันทั้ง 3
แต่สัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่มีดวงตาที่แตกต่างออกไป สุนัข แมว ม้า และกวางมีการมองเห็นแบบ 2 สี (dichromatic color vision) นั่นหมายความว่าสายตาของสัตว์เหล่านี้มีเซลล์รูปกรวยที่รับสีหลักได้ 2 สี ได้แก่ น้ำเงินและเขียว จึงไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียวได้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกอย่างกวางถือเป็นเหยื่อหลักของเสือ และการมองเห็นแบบ dichromatic ทำให้มันไม่เห็นเสือเป็นสีส้ม แต่กลับเห็นเป็นสีเดียวกับสีเขียว นี่ทำให้ในสายตาของสัตว์เหล่านี้ การสังเกตเห็นเสือที่ซุ่มอยู่ในพุ่มไม้หรือในหญ้าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
ทีนี้บางคนก็อาจจะเกิดคำถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่ให้เสือมีสีเขียวไปเลยล่ะ? คำตอบจากจอห์น เฟนเนลล์ (John Fennell) อาจารย์ด้านการรับรู้ของสัตว์และไบโอเมตริกส์กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างโมเลกุลของสัตว์จะผลิตสีน้ำตาลและสีส้มจะทำได้ง่ายกว่า ที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่มีสีเขียวคือสลอธ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่สีเขียวจากขนของมัน แต่มาจากสาหร่ายที่เติบโตอยู่ในขนของสลอธนั่นเอง”
อ้างอิง: LiveScience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส