กาแฟ น่าจะเป็นเครื่องดื่มที่เคียงคู่กับชีวิตวัยทำงานไปเสียแล้ว ตื่นเช้ามาก็ต้องดื่มสักแก้วแล้วค่อยเริ่มงาน แต่หลายคนอาจจะมีอาการเช่นนี้ ดื่มไปได้สัก 20 นาที รู้สึกได้เลยว่าข้าศึกรุกหนักต้องเข้าห้องน้ำถ่ายหนักเสียทุกที ก็มีการคาดเดากันว่าคาเฟอีนในกาแฟนี่ล่ะ น่าจะเป็นตัวการสำคัญใช่ไหม ทำให้เราต้องปวดอึทุกเช้าหลังดื่มกาแฟ บทความนี้มีคำตอบครับ

มนุษย์เราเริ่มดื่มกาแฟกันมาต้งแต่ศตวรรษที่ 15 กันแล้ว เรื่องดื่มกาแฟแล้วปวดอึ จึงไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่ชาวโลกสงสัยกัน แต่มามีการทดสอบสมมติฐานนี้กันอย่างจริงจังเมื่อปี 1998 นี่เอง นักวิจัยได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 12 คน ให้แต่ละคนทานอาหารแตกต่างกันเช่น กาแฟธรรมดา, กาแฟสังเคราะห์ไร้คาเฟอีน, น้ำเปล่า และอาหารมื้อหนัก 1,000 แคลอรี หลังแต่ละคนรับประทานอาหารที่จัดให้แล้ว ทางทีมวิจัยก็เริ่มตรวจสอบการทำงานของลำไส้ใหญ่ ด้วย มาโนมิเตอร์ (manometer) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดระดับแรงดัน เพื่อสำรวจการทำงานของลำไส้ใหญ่ หลังจากอาหารผ่านกระบวนการย่อยแล้วส่งผ่านลำไส้ใหญ่ไปยังทวารหนัก แล้วทีมวิจัยก็พบคำตอบแรกว่า กาแฟ สามารถกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานได้เทียบเท่ากับอาหารจำนวน 1,000 แคลอรี แต่สำหรับกาแฟไร้คาเฟอีนนั้น ลำไส้ใหญ่จะทำงานน้อยลง แต่ก็ยังมีผลต่อลำไส้ใหญ่มากกว่าน้ำเปล่า การทดสอบนี้จึงสามารถยืนยันได้ว่า คาเฟอีนในกาแฟนนั้นมีผลกระตุ้นการขับถ่าย แต่ก็ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุที่แน่ชัด
ในปี 1999 มีการวิจัยอีกครั้ง แล้วได้ข้อยืนยันเพิ่มเติมมาอีกหน่อยว่า “คาเฟอีนไม่ใช่ตัวการหลักที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร” ผ่านมาจนถึงปี 2008 นักวิจัยก็เดินหน้าสำรวจเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้กันต่ออีก รอบนี้ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 10 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้ดื่มน้ำเปล่า กับน้ำเปล่าผสมผงคาเฟอีน แล้วก็ใช้มาโนมิเตอร์ สำรวจการทำงานของทวารหนัก แล้วก็พบคำตอบชัดเจนว่า กลุ่มที่ดื่มคาเฟอีนนั้น กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะหดตัวอย่างเห็นได้ชัด แล้วความต้องการขับถ่ายของเสียก็เพิ่มมากขึ้น

แต่เมื่อนักวิจัยกล่าวว่า คาเฟอีนไม่ใช่ตัวการหลักที่กระตุ้นการขับถ่าย แล้วอะไรล่ะที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายได้อีก
เราพอสรุปได้ตรงนี้ว่า กาแฟทั้งแบบที่มีคาเฟอีน และ ไร้คาเฟอีน นั้นไปกระตุ้นให้ร่างกายของเราขับฮอร์โมนออกมาตัวหนึ่งชื่อว่า แกสทริน (Gastrin) เจ้าแกสทรินนี่จะไปทำหน้าที่ให้กระเพาะอาหารของเราอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมที่จะปล่อยกรดไฮโดรคลอริก และ เอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารออกมา แล้วยังเร่งให้กระเพาะอาหารบีบตัว ผ่อนคลายลิ้นเปิดปิดระหว่างลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ผ่อนคลายหูรูดที่เชื่อมระหว่างกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ด้วยกระบวนการทั้งหมดนี้ ก็กล่าวสรุปต้นทางปลายทางได้ว่า กาแฟกระตุ้นให้เกิดความต้องการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
มีอีกสมมติฐานหนึ่งครับ เรียกว่า ‘gastrocolic reflex’ หรือการตอบสนองของกระเพาะและลำไส้ใหญ่ เป็นปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของร่างกายคนเรา เมื่อเรากินหรือดื่มอะไรลงไปถึงกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารยืดตัว ตรงจุดนี้ล่ะที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังลำไส้ใหญ่ให้เกิดการทำงาน พอกระเพาะอาหารรับอาหารใหม่มา ลำไส้ใหญ่รับรู้แล้วก็เริ่มกระบวนการกำจัดอาหารเก่าที่ยังตกค้างอยู่ในลำไส้เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับอาหารใหม่ที่กำลังจะเข้ามา กระบวนการตอบสนองดังกล่าวนี้ ทำงานโดยฮอร์โมนหลายตัว และหนึ่งในนั้นก็คือ แกสทริน ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า คาเฟอีนในกาแฟคือตัวการที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งแกสทรินออกมา แล้วแกสทรินก็ไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงาน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าพอเราดื่มกาแฟแล้วทำให้เราต้องเข้าห้องน้ำ

ต้องระบุเพิ่มเติมด้วยว่า อาการ ‘gastrocolic reflex’ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้น จึงเป็นคำอธิบายได้ชัดเจนว่าทำไมกาแฟแก้วแรกตอนเช้าถึงทำให้เราต้องวิ่งเข้าห้องน้ำ แต่ทำไมดื่มกาแฟรอบบ่ายแล้วไม่มีอาการเช่นนี้ ซึ่งนักวิจัยก็สงสัยในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงทำการศึกษาลงลึกไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ของ ระบบลำไส้กับ วงจรการทำงานในรอบวัน แล้วก็พบคำตอบว่า การทำงานของลำไส้จะตื่นตัวและทำงานได้ดีในช่วงเวลาที่เราตื่นเช้า แล้วจะค่อย ๆ ลดกระบวนการทำงานลงในช่วงบ่ายจนถึงค่ำ ตรงจุดนี้ล่ะ ที่ย้อนกลับไปสมทบข้อสรุปของนักวิจัยที่ว่า “คาเฟอีนไม่ใช่ตัวการหลักที่ทำให้เราปวดอึตอนเช้า แต่มีเรื่องการทำงานของระบบย่อยอาหารของมนุษย์เราร่วมอยู่ด้วย
แต่สำหรับใครที่ดื่มกาแฟแล้วไม่ได้รู้สึกปวดอึแต่อย่างใด ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองผิดปกติหรือเปล่า เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการเช่นนี้ ในปี 1990 มีการวิจัยเรื่องนี้กับอาสาสมัครจำนวน 99 คน มีเพียง 29% เท่านั้นที่ดื่มกาแฟแล้วรู้สึกปวดอึ มีการวิจัยต่อเนื่องในสมมติฐานเดียวกันนี้กับอาสาสมัครจำนวน 14 คน พบว่า 8 คนดื่มแล้วปวดอึ แต่อีก 6 คน รู้สึกแค่เพียงว่ามีการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหารภายในร่างกาย
พอสรุปได้ว่า กาแฟมีผลต่อระบบขับถ่ายกับบางคนแต่ไม่ใช่ทุกคน เราพอมองเห็นแล้วว่า ผลกระทบทางสรีรวิทยาจากกาแฟสู่ระบบการทำงานของลำไส้คนเรานั่นช่างซับซ้อนนัก ถึงแม้จะมีการวิจัยหลายต่อหลายครั้งในเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่กระจางชัดนัก