งานวิจัยใหม่ระบุว่า ตั้งแต่แมวเริ่มพึ่งพามนุษย์ในพันปีที่ผ่านมาก็ทำให้สมองของมันมีขนาดเล็กลง!
การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวันที่ 26 มกราคม ในวารสาร Royal Society Open Science พูดถึงการสำรวจโดยเปรียบเทียบการวัดกะโหลก (ซึ่งสามารถบ่งชี้ขนาดสมอง) ของแมวบ้านสมัยใหม่เทียบกับแมวป่าบรรพบุรุษที่เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันที่สุด ได้แก่ แมวป่าแอฟริกัน (Felis lybica) และแมวป่ายุโรป (Felis silvestris) ซึ่งทีมวิจัยพบว่าขนาดกะโหลดและขนาดสมองของแมวเลี้ยงได้หดตัวลงตลอดระยะเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับแมวป่าบรรพบุรุษของพวกมัน
อย่างไรก็ตามขนาดสมองของแมวเลี้ยงที่เล็กลงนั้นไม่ได้หมายความว่า แมวเลี้ยงจะฉลาดน้อยกว่าแมวป่า สมมติฐานข้อหนึ่งระบุว่า ความเชื่องที่พัฒนาขึ้นในหมู่สัตว์เลี้ยงอาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของสัตว์เหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจตั้งแต่ขณะยังเป็นตัวอ่อนและเพิ่งเริ่มพัฒนาเซลล์นิวรัล เครสต์ (Neural crest cells) ที่มีความสำคัญในการพัฒนาไปเป็นเนื้อเยืิ่อต่าง ๆ และเซลล์ประสาทในสมอง
ความเชื่องในสัตว์เลี้ยงส่งผลให้การพัฒนาของเซลล์นิวรัล เครสต์ลดน้อยลง ส่งผลต่อความตื่นตัวและความกลัวที่ลดลง ซึ่งการลดลงของเซลล์นิวรัล เครสต์ก็ส่งผลให้การตอบสนองต่อความเครียด และขนาดของสมองเปลี่ยนไป
ทีมวิจัยค้นพบว่า ขนาดกะโหลกของแมวบ้านในปัจจุบันลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับกะโหลกของแมวป่าแอฟริกันและแมวป่ายุโรป นอกจากนี้พวกเขายังทำการสำรวจขนาดกะโหลกของสายพันธ์แมวที่อยู่กึ่งกลางระหว่างแมวป่าและแมวเลี้ยง โดยพวกเขาพบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวนั้นมีขนาดกะโหลกอยู่กึ่งกลางระหว่างแมวป่าและแมวเลี้ยง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงแมวนั้นมีผลอย่างมากต่อวิวัฒนาการของแมวในหลายพันปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ ในบ้านเช่นเดียวกัน
นักวิจัยสรุปว่า การทำความเข้าใจในสิ่งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการของสัตว์ป่าจากการถูกเลี้ยง แต่ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่นำมาผสมพันธุ์กับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
อ้างอิง: LiveScience
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส