กวินน์ ชอตเวลล์ (Gwynne Shotwell) ประธานของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าสเปซเอ็กซ์จะยุติการผลิตแคปซูลอวกาศ Crew Dragon ใหม่ เนื่องจากบริษัทต้องการทุ่มทรัพยากรไปที่การพัฒนาสตาร์ชิป (Starship) ระบบขนส่งอวกาศขนาดใหญ่แบบนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเดินทางไปดวงจันทร์และดาวอังคาร
Crew Dragon เป็นยานอวกาศของบริษัทเอกชนรายแรกที่ให้บริการขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 7 คน นับตั้งแต่การเปิดตัวจนมาถึงปี 2022 ได้ทำภารกิจขนส่งมนุษย์ออกสู่อวกาศแล้วถึง 5 ครั้ง และจะหยุดการผลิตเพิ่มเติมโดยใช้ยาน 4 ลำที่ผลิตแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
สเปซเอ็กซ์มีแผนจะทดสอบบินต้นแบบยานสตาร์ชิปจากหมู่บ้านโบคาชิกาไปสู่อวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนี้กำลังรอสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ปล่อยยานมานานหลายเดือนแล้ว และล่าสุด FAA ได้ประกาศเลื่อนเป้าหมายว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จใน 29 เม.ย.
21 มี.ค. อีลอน มัสก์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์เผยว่าหลังการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมของ FAA เสร็จภายใน 28 มี.ค. จากนั้นในเดือนหน้าจะสร้างเครื่องยนต์ 39 ตัวและอีกเดือนจะทำการประกอบ ซึ่งหวังว่าจะบินทดสอบได้ในเดือน พ.ค. คาดว่าหาก FAA อนุมัติได้เสร็จทันใน 29 เม.ย. ก็มีลุ้นที่จะเห็นการทดสอบบินสตาร์ชิปเกิดขึ้นใน พ.ค.
23 มี.ค. นาซา (NASA) ประกาศแผนเปิดรับบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนายานนำส่งนักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์เพิ่มเติมอีกหนึ่งรายภายใต้โครงการอาร์เทมิส (Artemis) และเผยว่าจะเริ่มภารกิจระบบลงจอดของสเปซเอ็กซ์ที่ได้เลือกไว้เป็นรายแรกไม่เกิน เม.ย. 2025 (Artemis III) โดยใช้สัญญาเดิม ซึ่งขณะนี้ได้ขอให้สเปซเอ็กซ์ปรับเปลี่ยนระบบลงจอดให้เป็นยานอวกาศตามข้อกำหนดของนาซา การพัฒนาเพิ่มเติมจะอยู่ภายใต้สัญญาเดิมโดยจะเพิ่มการลงทุนและร่วมมือกับสเปซเอ็กซ์อย่างเต็มที่
สรุปง่าย ๆ ว่าสเปซเอ็กซ์พิจารณาดูแล้วว่าการขนส่งนักบินอวกาศของนาซาและโครงการของเอกชนไปยัง ISS และการท่องเที่ยวอวกาศสามารถใช้ยาน Crew Dragon ที่มีอยู่ 4 ลำได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งควรจะไปเร่งพัฒนาโครงการสตาร์ชิปให้ทันกับกรอบเวลาที่ตกลงไว้กับนาซา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส