การเข้าถึง Synology NAS นั้นมีอยู่หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าที่อยู่ IP (192.168.x.x) การเข้าทางไกลผ่านบริการ QuickConnect ของ Synology หรือการเข้าผ่าน IP จริงที่อาจผูกไว้กับโดเมนเพื่อให้จำง่าย ๆ ซึ่งในแต่ละช่องทางก็มีข้อดีข้อเสียแต่ต่างกันออกไป
ปัจจุบันทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายต่าง ๆ มักจะไม่ได้ปล่อย IP จริงมาให้ ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงทางตรงได้ ซึ่งมีทางแก้ไขนั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการซื้อ Fixed IP จากผู้ให้บริการที่มีราคาสูงพอสมควร หรือการเปิด IP ของเราเป็น Public ที่เป็นวิธีที่ง่ายกว่า แต่ IP จะสุ่มเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีโซลูชัน DDNS หรือ Dynamic DNS มาช่วยจัดการในตรงนี้ให้
ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการเข้าถึง Synology NAS ว่าการเข้าผ่าน Public IP นั้น ต้องทำอย่างไร ทำได้ง่าย ๆ ไม่ยาก พร้อมผูกโดเมนฟรีจาก Synology ให้เข้าถึงด้วยชื่อง่าย ๆ ไม่ต้องจำเลข IP ยาว ๆ และยังสามารถเสริมความปลอดภัยเชื่อมต่อผ่านโปรโตคอล HTTPS เข้ารหัสข้อมูลทุกการรับส่งข้อมูลด้วยใบรับรองฟรีจาก Let’s Encrypt
การใช้ DDNS ต่างจาก QuickConnect อย่างไร?
หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าการตั้งค่า DDNS นี้ต่างจากการใช้งาน QuickConnect ที่เป็นโซลูชันการเข้าถึงจากภายนอกของ Synology อย่างไร เพราะทั้ง 2 อย่างนี้มีจุดเป้าหมายในการเข้าถึงจากภายนอกเหมือนกัน
ความต่างหลัก ๆ ระหว่างการใช้งาน 2 แบบนั้น คือ ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล เพราะการใช้งานผ่าน QuickConnect นั้น จะมีการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ตัวกลางของ Synology ก่อน เพื่อเข้าถึง NAS เครื่องต่าง ๆ ในขณะที่การเชื่อมต่อผ่าน DDNS เป็นการเชื่อมต่อโดยตรงการ Synology NAS ของผู้ใช้
เตรียมตัวก่อนเริ่มทำ
ก่อนอื่น การที่เราจะเข้าถึงผ่าน IP จริงนั้น ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า IP ที่ได้มานั้น เป็น IP ที่เข้าถึงได้จากภายนอกโดยตรง ตรวจสอบได้ง่าย ๆ โดยเข้าไปที่เราเตอร์ดู IP จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับ IPv4 ของเครื่องคอมพิวเตอร์เราว่าตรงกันหรือไม่ โดยพิมพ์ค้นหา ‘What is my IP address’ บน Google
หากไม่ตรงกัน นั่นแปลว่าเราไม่ได้ IP จริงมา ต้องทำผ่านบริการ DDNS ของผู้ให้บริการอีกที ซึ่งวิธีการนี้เราจะไม่สามารถออกใบรับรองสำหรับการเข้าผ่าน HTTPS ได้
แต่หาก IP ทั้ง 2 จุดนั้น เราเตอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงกัน สามารถทำต่อได้ง่าย ๆ โดยก่อนการทำขั้นตอนอื่น ๆ จะต้องทำการ Forward Port บนเราเตอร์ ชี้พอร์ต 80 และ 443 ไปที่ Synology NAS พอร์ต 5000 และ 5001 (ค่าเริ่มต้น) สำหรับขั้นตอนวิธีการทำจะขึ้นอยู่กับเราเตอร์ที่ใช้งาน
เมื่อทำการ Forward Port เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามาเริ่มตั้งค่า DDNS พร้อมใบรับรองเพื่อเข้าผ่าน HTTPS กันเลย
ผูกโดเมนฟรีจาก Synology เข้าถึงง่าย ๆ ปลอดภัย
เมื่อทำการ Forward Port เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ก็ถึงขั้นตอนที่เราจะนำไปผูกกับโดเมนของ Synlogy ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ
เริ่มต้นที่หน้า DiskStation Manager ไปที่ Control Panel > External Access > DDNS และกด Add เพื่อตั้งค่า
ในหน้า ‘Add DDNS’ ให้เลือก Service Provider เป็น Synology ใส่ชื่อโดเมนที่เราต้องการ (<ชื่อที่ต้องการ>.synology.me) ติ๊กตัวเลือก ‘Get a certificate from Let’s Encrypt and set it as default’ เพื่อให้ระบบขอใบรับรองให้อัตโนมัติ
เพียงเท่านี้ก็จะสามารถเข้าถึง Synology NAS ได้จากโดเมนที่เราตั้งไว้ได้แล้ว
ตั้งค่าเพื่อใช้งานกับบริการ DDNS อื่น ๆ
สำหรับการตั้งค่าใช้กับบริการ DDNS อื่น ๆ นั้น ทาง Synology ได้มีตัวเลือก Service Provider มาให้มากมาย รวมถึงผู้ใช้ยังสามารถกำหนดเองได้ด้วย
ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Control Panel > External Access > DDNS กด Add และเลือก Service Provider ที่ใช้บริการอยู่ เช่น No-IP.com, DYNDNS, FreeDNS, หรือบริการอื่น ๆ อีกมากมาย และทำการกรอกข้อมูลการเข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งาน DDNS บน Synology NAS ได้ที่ kb.synology.com/th-th/DSM/help/DSM/AdminCenter/connection_ddns
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส