Cloud Storage จากแนวโน้มเทคโนโลยีมาแรงเมื่อหลายปีก่อน สู่บริการพื้นฐานที่คนไอทีต้องใช้ในปัจจุบัน แต่คลิปนี้เรามาเล่าประสบการณ์การใช้คลาวด์มากกว่า 2 TB จนเต็มให้ฟัง ถ้าใครคิดว่าพื้นที่บนคลาวด์เป็นของราคาถูก อาจต้องมองอีกมุมหนึ่งว่ามันอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายไปตลอดชีวิตของคุณก็ได้
เราใช้ iCloud ของแอปเปิ้ลเพื่อเก็บรูปและวิดีโอจากอุปกรณ์ของคนทั้งบ้าน ซึ่งเราก็ใช้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาก ๆ จนพื้นที่ 2 TB ความจุสูงสุดที่แอปเปิ้ลจะให้ซื้อได้เต็ม ซึ่งแม้ว่าโทรปรึกษาแอปเปิ้ลก็แล้ว แต่เหมือนมีคนไม่กี่คนบนโลกที่ใช้ iCloud 2 TB เต็ม จึงไม่ได้มีทางออกของปัญหานี้อย่างเป็นทางการ นอกจากเทคนิคแบบ Workaround ให้ได้พื้นที่เพิ่มมาอีกนิดหน่อย และการไล่ลบข้อมูลใน Cloud ออก เพื่อให้มีพื้นที่เก็บข้อมูลใหม่ ๆ (ซึ่งจริง ๆ มีวิธีสมัคร Apple One Premier + iCloud 2 TB เพื่อให้ได้พื้นที่ 4 TB ด้วย แต่ในประเทศไทยยังไม่รองรับ)
เล่ามาถึงตรงนี้น่าจะเห็นความรุงรังจากการเก็บข้อมูลจำนวนมากบน Cloud แล้วใช่ไหม จะย้ายไปไหนก็ยาก เพราะข้อมูลเยอะ จะโอนไปบริการใหม่ก็ต้องใช้เวลาและมีกระบวนการยุ่งยาก จึงต้องไปไล่ลบข้อมูลเก่า ๆ ซึ่งดูรูปเก่า ๆ ก็ต้องใช้เวลามาก เพราะดูรูปของตัวเองในอดีตก็จะฟิน อารมณ์แบบ Nostalgia ต้องตัดสินใจลบรูปส่วนหนึ่ง จากรูปเป็นหมื่นเป็นแสน และวิดีโอบนนั้น มันก็เป็นภารกิจที่ยาวนาน และที่สำคัญเราก็ไม่สามารถเลิกจ่าย 349 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายของพื้นที่ 2 TB ได้ เพราะข้อมูลจำนวนมากของเราอยู่บน iCloud ซึ่งปี ๆ หนึ่งต้องจ่าย 4,188 บาท และสมมุติว่าจ่ายไปอีก 50 ปี คิดเร็ว ๆ จากอัตรานี้ 349 บาทต่อเดือน ไม่เผื่อขึ้นราคาหรือลดราคาเลย ก็ต้องจ่ายเงินรวม 209,400 บาท ที่คุณค้างจ่ายไม่ได้สักเดือนด้วยนะ
ซึ่งถ้าไปย้อนดูราคาของ Cloud ซึ่งเราคิดว่าน่าจะถูกลงมากแน่ ๆ แต่ Google Drive ก็ไม่เคยลดราคาพื้นที่ 100 GB ให้ถูกกว่า 70 บาทต่อเดือน มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ส่วนพื้นที่ 2 TB ก็คงราคา 350 บาทต่อเดือน มาตั้งแต่ปี 2018 ส่วน Apple iCloud ก็ไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะให้พื้นที่ฟรีแค่ 5 GB มาตั้งแต่ปี 2011 หรือ 10 ปีที่แล้วโดยไม่เพิ่มให้เลย ส่วนพื้นที่ 50 GB ราคา 35 บาทต่อเดือน ก็คงราคานี้มาตั้งแต่ปี 2015 ส่วนความจุ 2 TB ก็คงราคา 349 บาทต่อเดือน มาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว สรุปง่าย ๆ ตลาดนี้ ถ้าคู่แข่งไม่ขยับ ก็คงไม่มีใครยอมลดราคาลงเรื่อย ๆ แถมเจ้าตำรับบริการแบบเก็บเงินรายเดือนอย่าง Adobe ยังโชว์ให้ดูว่าพวกเขาสามารถขึ้นราคาค่าใช้งานรายเดือนได้ด้วย ก็หวังว่าเทรนด์นี้จะไม่มาถึงบริการเก็บข้อมูลแบบคลาวด์
มันเลยเป็นเรื่องที่ระลึกเสมอว่า ถึงยุคดิจิทัล ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลจะถูกกว่ายุคอนาล็อกมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในการเก็บ ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร ไม่ให้ทุกคนใช้คลาวด์เลยก็คงไม่ใช่ เพราะยังไงมันก็เป็นบริการที่สะดวกมากอยู่ดี แต่คุณต้องเริ่มจัดการข้อมูลของตัวเองตั้งแต่ต้นทางครับ ค่อย ๆ ทำไปตั้งแต่ตอนบันทึกเข้าไปเลย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยภายหลัง เราขอยกมา 5 วิธี ดังนี้
1. ลบรูปที่ไม่ใช้ตั้งแต่แรก
เป็นเรื่องปกติที่เราจะถ่ายรูปแต่ละซีนมา 3-4 รูป เพื่อกันพลาด กันเบลอ กันหลับตา สารพัดจะกัน แต่รูปพวกนี้แหละที่ทำให้กินพื้นที่ในเครื่องมากกว่าปกติ เพราะเราใช้จริง ๆ แค่ 1 รูป จากหลายรูปที่เราถ่ายมา ซึ่งถ้ารอจนพื้นที่เต็มแล้วมาจัดการทีหลังนี่ก็งานช้าง กินเวลาไปมาก เพราะงั้นจบวัน เอารูปที่ถ่ายมานั่งดู แล้วลบไปเลย จะสะดวกกว่า
2. เลือกถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุดแค่ซีนที่สำคัญจริง ๆ
ทุกวันนี้กล้องมือถือสามารถถ่ายวิดีโอระดับ 4K 60 fps กันได้เป็นเรื่องปกติแล้ว แต่วิดีโอแบบนี้ก็กินพื้นที่มากที่สุดเช่นกัน ที่สำคัญเลย คือ เวลาพื้นที่เต็มแล้วเราต้องการแปลงวิดีโอที่ถ่ายมาเต็มความละเอียดให้มีขนาดเล็กลง เช่น ย่อจาก 4K เป็น 1080p มันก็ใช้เวลาแปลงวิดีโออีกสักพักหนึ่งเลย ทำให้ข้อมูลวิดีโอขนาดใหญ่นี้เป็นเรื่องที่จัดการยาก
เพราะฉะนั้นให้เลือกความละเอียดวิดีโอที่เหมาะสำหรับการเอาไปใช้ของคุณ เช่น หากถ่ายเก็บไว้ดูเอง การถ่ายที่ความละเอียด 1080p 30 fps ก็น่าจะชัดเพียงพอสำหรับวิดีโอในชีวิตประจำวันแล้วครับ แต่ถ้าคุณคิดว่าอยากย้อนความทรงจำเก่า ๆ ให้ชัดเจนที่สุด อยากถ่าย 4K ก็ต้องเตรียมวิธี Backup วิดีโอไว้แหล่งอื่น ๆ นอก Cloud อย่าง NAS ไว้ด้วย
3. เลือกเทคโนโลยีการบีบอัดภาพและวิดีโอที่ดีที่สุดเสมอ
ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีการบีบอัดรูปดีที่กว่า JPG คือ HEIC/HEIF หรือ High Efficiency Image File Format และเทคโนโลยีการบีบอัดวิดีโอที่ดีกว่าเดิมอย่าง H.265 ซึ่งทำให้ได้คุณภาพภาพและวิดีโอที่ดีกว่าเดิม ในขณะที่ขนาดไฟล์ลดลง ถ้าสมาร์ตโฟนของคุณรองรับอย่าง iPhone รองรับรูปแบบไฟล์สมัยใหม่นี้ทั้งภาพและวิดีโอ ส่วน Android ส่วนใหญ่จะรองรับวิดีโอ H.265 แล้ว ส่วน HEIF จะรองรับเป็นบางรุ่น ก่อนถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอลองเข้าไปเช็กดูตัวเลือกก่อน ว่าเปิดใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด หรือ High Efficiency แล้วหรือยัง เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บไฟล์ลงไปได้
4. ถ่ายรูปแบบ RAW เฉพาะที่จำเป็น
กล้องและสมาร์ตโฟนยุคนี้ก็มีตัวเลือกถ่าย RAW หรือไฟล์ที่เก็บข้อมูลดิบจากเซนเซอร์โดยไม่ได้ปรับแต่ง ซึ่งมีประโยชน์มากในการเอามาตกแต่งต่อในภายหลัง แต่ถ้าคุณไม่คิดจะแต่งรูปทุกรูป ก็ควรเปิดให้เซฟไฟล์ RAW เฉพาะที่ตั้งใจจะเอาไปแต่งก็พอ นอกจากนี้สมาร์ตโฟนในปัจจุบันก็มีความสามารถในการปรับแต่งภาพด้วย AI ที่เก่งมาก ในยุคหลัง ๆ เราจึงลดการแต่งรูปจากไฟล์ RAW ของสมาร์ตโฟนไปได้เยอะเลย
5. เลือกข้อมูลที่จะแบ็กอัปลงคลาวด์เสมอ
บริการอย่าง iCloud, Google Drive หรือ Microsoft OneDrive นั้นไม่ได้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลตามปกติอย่างเดียว แต่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับ Backup อุปกรณ์ของ Apple, Android และ Windows ด้วย ซึ่งค่ามาตรฐานของมัน คือ การ Backup ข้อมูลทุกอย่างที่มีในเครื่องเก็บขึ้นคลาวด์ไปด้วย แต่บางข้อมูลมันก็ไม่จำเป็น เช่น คนที่เล่นเกม Genshin Impact รู้หรือไม่ว่าเกมจะ Backup ข้อมูลเกือบ 10 GB ขึ้น iCloud โดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อมูลนี้ไม่จำเป็นต้อง Backup ในคลาวด์ของตัวเองเลย เพราะปกติเซฟเกมนี้จะเก็บอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งคุณสามารถเข้าไปปิดแอปที่ไม่ต้องการให้แบ็กอัปได้ใน Settings ของระบบ ก็จะทำให้คลาวด์ของคุณมีพื้นที่เก็บข้อมูลที่จำเป็นจริง ๆ
เรื่องการจัดการ Cloud นี้ก็เหมือนการบริหารข้อมูลของคุณในระยะยาว ค่อย ๆ จัดการไปพร้อมกับการใช้ชีวิต อนาคตจะเหนื่อยน้อยลง และเสียเงินน้อยลงอีกด้วย หรือถ้าหากใครที่มีข้อมูลเยอะมากจริง ๆ จ่าย Cloud ไปก็อาจจะไม่คุ้ม ก็ลองดูโซลูชันอื่น ๆ อย่างกล่อง NAS ที่ใส่ฮาร์ดดิกส์ได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นทางเลือกที่ดีได้เช่นกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส