หลังจากที่เราได้เตือนภัยผู้ใช้ Google Authenticator ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่าอาจจะเข้าถึงบัญชีไม่ได้หากทำเครื่องหาย หรือเครื่องพัง เนื่องจากต้องใช้รหัสยืนยันที่ถูกสร้างขึ้นบนอุปกรณ์ ซึ่งบน Google Authenticator จะไม่มีการสำรองข้อมูลขึ้นบนคลาวด์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงรหัสยืนยันดังกล่าวบนเครื่องอื่น ๆ ได้
วันนี้เราจะมาบอกทิปส์การใช้งาน หากต้องการใช้งาน Google Authenticator ต่อไป ให้หมดห่วงเรื่องอุปกรณ์สูญหาย อุปกรณ์พัง ที่จะมีผลทำให้เข้าถึงบัญชีที่ต้องใช้รหัสยืนยันจากอุปกรณ์
ทิปที่ 1: โคลนรหัสยืนยันมาไว้บนอุปกรณ์สำรอง
สำหรับสิ่งที่ง่ายที่สุด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ การโคลนรหัสยืนยันต่าง ๆ ที่อยู่บนแอป Google Authenticator ของอุปกรณ์์หลัก มาไว้บนอุปกรณ์อีกเครื่อง หากมีเครื่องสำรองส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต ที่ต้องมั่นใจว่าไม่มีคนอื่นสามารถเข้าถึงได้
วิธีการย้ายนั้น สามารถทำด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ การส่งออกบัญชี หรือการ Export บัญชีจากหนึ่งเครื่อง เพื่อนำอุปกรณ์อีก 1 เครื่อง มาสแกนเพื่อโคลนข้อมูล
ทิปที่ 2: บันทึก QR Code ของบัญชีที่ส่งออกมาจากแอป Google Authenticator
สำหรับวิธีนี้ การบันทึก QR Code ออกมาเก็บไว้ด้านนอกนั้น จะค่อนข้างเพิ่มความเสี่ยงสำหรับบัญชีต่าง ๆ ขึ้นมา เนื่องจากภาพ QR Code จะมีข้อมูลทุกอย่างทีมีความอ่อนไหวเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนของบัญชี ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องมั่นใจว่า QR Code ดังกล่าวจะต้องถูกเก็บไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัย
สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยส่งออกบัญชีคล้ายกับวิธีการทางด้านบน แต่เปลี่ยนจากการนำอุปกรณ์อีกเครื่องมาสแกน เป็นการถ่ายภาพหน้าจอแทน
หากทำตาม 2 วิธีด้านบนนี้ จะยังมีความเสี่ยงต่อข้อมูลรั่วไหล ทำให้อาจมีการเข้าถึงบัญชีที่ไม่พึงประสงค์ในระยะยาวได้ แต่ถ้าหากต้องการเพิ่มความปลอดภัยนั้น โดยปกติแล้ว บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, หรือ Google ก็ตาม ต่างมีการให้รหัสยืนยันตัวตนสำรองประมาณ 10 รหัส เพื่อใช้ในการเข้าสู่บัญชี หากเข้าถึงตัวสร้างรหัสยืนยันไม่ได้ ให้เลือกที่จะบันทึกรหัสยืนยันตัวตนสำรองนี้แทน เพราะจะใช้ได้เพียงรหัสละ 1 ครั้งเท่านั้น หรือวิธีการยืนยันแบบอื่น ๆ เช่น ผ่านรหัส OTP ใน SMS
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส