เวลาแห่งความสุขมักจะผ่านไปรวดเร็วเสมอ เหมือนเกมที่เราเคยหลงรักอย่างซีรีส์ ‘The Last of Us’ เกมที่ทำให้ผู้เล่นทั่วโลกรู้สึกอบอุ่นหัวใจ กับการเดินทางของชายหญิงคู่หนึ่งที่คนหนึ่งขาดความรักกับอีกคนที่โหยหาความสิ่งที่สูญเสียมาเจอกัน ทั้งคู่จึงลงเอยด้วยความรักแบบพ่อลูกที่ทั้งคู่ก็ยินดีรับมันแบบไม่มีเงื่อนไข ที่จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 9 ปีแล้ว แต่ความรู้สึกเหล่านั้นยังคงอยู่ ซึ่งตลอดทั้งเกมที่เราได้เล่นนั้นไม่ได้ให้เราเจอความรักที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเดินทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคความผิดพลาด การสูญเสียที่ไม่มีวันหวนคืน แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จบลงด้วยดีแบบที่คนเล่นเกมทุกคนคาดหวัง จนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนทางทีมงานหมาซน ‘Naughty Dog’ ก็เอาเกมภาคนี้มา ‘Remake’ ใหม่ในชื่อ “The Last Of Us Part l” ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของเกมนี้พอดี เรามาย้อนดูสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจในเกมนี้กันว่ามีอะไรน่าจดจำบ้าง เตรียมอุปกรณ์เดินทางให้พร้อมและมาออกเดินทางไปพร้อมกันเลย
จุดเริ่มต้นเกม The Last of Us
เริ่มต้นเรื่องแรกสำหรับคนที่ยังไม่รู้จักหรือเคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อน เกม ‘The Last of Us’ คือเกมแอ็กชันในโลกอนาคตที่ล่มสลาย เพราะเชื้อไวรัสเห็ดที่เปลี่ยนคนให้เป็นซอมบี้ ที่นอกจากซอมบี้แล้วเรายังต้องต่อสู้กับผู้รอดชีวิตคนอื่นที่เป็นโจรที่ปล้นฆ่านักเดินทาง ตัวเกมจึงเน้นไปที่การลอบเร้นแอบเพื่อกำจัดหรือหนีศัตรู ผ่านการเดินทางของนักขนของเถื่อน โจเอล มิลเลอร์ (Joel Miller) และ เอลลี่ (Ellie) ไปส่งที่โรงพยาบาลเพราะเธอโดนซอมบี้กัดแต่ไม่ติดเชื้อ จึงต้องนำตัวเอลลี่มาทดลองเพื่อนำเชื้อมาสร้างเป็นยาต่อต้านไวรัสหัวเห็ดเพื่อช่วยโลกใบนี้ การเดินทางข้ามประเทศของคนสองคนที่ต่างขาดสิ่งเดียวกันได้มาเจอกัน โดยเนื้อสาระสำคัญของเกมนี้คือ “ชีวิตต้องดำเนินต่อไป” ซึ่งการเอาชีวิตรอดในโลกล่มสลายคือการสำรวจทุกอย่างในฉากเพื่อรวบรวมเป็นวัตถุดิบในการสร้างอาวุธเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเกมนี้ที่บอกเลยว่าคุณต้องหลงรักทั้งตัวเกมรูปแบบการเล่นตัวละครและเนื้อเรื่องอย่างแน่นอน
ความรักและความผูกพันคือสิ่งที่เกมต้องการสื่อ
“ความรักและความผูกพัน” ถ้าใครที่ติดตามซีรีส์เกม ‘The Last Of Us’ ทั้งสองภาคมาจะทราบทันทีว่าทั้งสองเกมนี้จะมีเนื้อหาหลัก ๆ บอกกับคนเล่นอย่างชัดเจนว่า ภาคนี้จะเนื้อหาหลักจะเกี่ยวกับอะไร อย่างใน ‘The Last Of Us’ ภาคแรกจะเกี่ยวกับการเติมเต็มความรักและความเข้าใจ ขณะที่ภาค 2 ของซีรีส์จะเป็นความโกรธเกลียดชังการแก้แค้นและความว่างเปล่า ซึ่งนั่นคือหัวใจหลักของเกมซีรีส์นี้ที่จะพาคุณจมดิ่งพร้อมกับความรู้สึกที่ถาโถมคนเล่น ที่ในภาคแรกคุณจะได้รับความรักความผูกพันของโจเอลและเอลลี่ ที่ต่างก็รักและต้องการกันและกัน เพราะคนหนึ่งก็ขาดพ่อแม่อีกคนก็ขาดลูกสาว เมื่อทั้งคู่มาเจอกันทุกอย่างจึงลงตัว ที่เหลือคือการให้คนเล่นอย่างเราช่วยให้ทั้งคู่ผ่านเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นนี้ไปให้ได้ นั่นคือหัวใจของเกมภาคแรกนี้ที่บอกเลยว่าเมื่อเล่นจบคุณจะรู้สึกหลงรักเกมซีรีส์นี้เหมือนคนอื่น ๆ ทั่วโลก และพอมาเล่นภาค 2 คุณก็จะรู้สึกโกรธเกลียดไม่พอใจที่ตรงข้ามกับภาคแรก ที่บอกเลยว่าทีมพัฒนาทำได้ยอดเยี่ยมในจุดนี้จริง ๆ จนมีคนให้ความนิยามว่า ‘The Last Of Us’ ภาคแรกคือความสวยงามบนโลกอันโสมมที่เราคิดไม่ถึง ส่วนที่สองคือการตอกย้ำให้เรายอมรับความเป็นจริงว่าโลกนี้มันแสนโสมมโหดร้าย และคุณต้องยอมรับมันให้ได้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่นซีรีส์นี้เลยคุณจะได้สัมผัสทั้งสองอย่างนี้จากเกมทั้งสองภาคอย่างที่เราได้บอกไป ซึ่งสิบปากว่าจนทำให้คุณรู้เนื้อเรื่องเกมไปแล้วว่าเป็นอย่างไร ก็ไม่เท่าลองเล่นเองแล้วคุณจะรู้ว่ามันรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ
ระบบการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์
คราวนี้มาดูระบบหลัก ๆ ของเกม ‘The Last Of Us’ ที่นอกจากการแอบซ่อนเพื่อกำจัดศัตรูที่เป็นหัวใจหลักแล้วตัวเกม ยังมีระบบช่วยเหลือผู้เล่นกับสิ่งที่เรียกว่าระบบช่วยฟัง ที่เมื่อโจเอลตั้งสมาธิเราจะสามารถมองเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือเอ่ยเสียงได้ เพื่อให้เรารู้ว่าศัตรูอยู่ตรงไหนแบบชัดเจน (รูปประกอบด้านล่าง) ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยเล่นก็อาจจะคิดว่าระบบดังกล่าวช่วยผู้เล่นมากเกินไป ที่ก็คงพูดแบบนั้นไม่เต็มปากเท่าใดนัก เพราะถึงตัวเราจะสามารถมองเห็นศัตรูทะลุกำแพงได้ แต่ตัวศัตรูในเกมก็มีความฉลาดและแข็งแกร่งพอที่จะเรียกพวกหรือฆ่าเราตายในการโจมตีครั้งเดียว ที่ถือว่าเท่าเทียมกับความสามารถที่เรามี หรือถ้าคุณต้องการความท้าทายสมจริง ก็เล่นในความยากที่สูงขึ้นระบบช่วยฟังนี้จะถูกตัดออกไป แล้วคุณจะค้นพบความสนุกของการเอาชีวิตรอดที่ต้องใช้หูเราฟังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของจริง และการต่อสู้ในเกมนี้ก็จะมีทั้งแบบใช้อาวุธจำพวกท่อนไม้ท่อนเหล็กที่สามารถเพิ่มค่าความรุนแรงได้ นอกจากนี้ก็มีปืนแบบต่าง ๆ ไปจนถึงหมัดธรรมดาก็สามารถจัดศัตรูบางประเภทได้ ซึ่งผู้เล่นจะได้เรียนรู้ระบบทุกอย่างผ่านการเล่น ที่เราจะรู้ด้วยสัญชาตญาณตัวเองว่าตอนนี้ควรสู้หนีหรือเขาลุยซึ่ง ๆ หน้า เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหนก็ไม่มีผิดหรือถูก เกมจะสนแค่ว่าคุณรอดชีวิตมาได้ไหมเท่านั้น นั่นคือระบบเกมที่ ‘The Last Of Us’ มอบให้ผู้เล่น
Ico และ Resident Evil 4 มีอิทธิพลต่อการออกแบบเกม The Last Of Us
คราวนี้มาดูต้นแบบเกมที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบเกม ‘The Last Of Us’ กันบ้าง โดยเกมแรกนั้นคือเกมที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง ‘Resident Evil 4’ เกมแอ็กชันที่เปลี่ยนตัวเองจากเกมสยองขวัญ มาเป็นเกมแอ็กชันที่ยังคงความหลอนสยองขวัญและความสนุกเอาไว้แบบครบถ้วนไม่มีขาดตก ซึ่งถ้าใครที่ไม่เคยเล่นเกมนี้จะให้เรารับบทเป็นสายลับมือหนึ่งที่ไปช่วยลูกสาวประธานาธิบดีที่ถูกผู้ก่อการร้ายจับ ซึ่งในหลาย ๆ ช่วงของเกมเราจะได้เจอกับตัวลูกสาวประธานาธิบดีและเดินทางไปด้วยกัน นั่นจึงถือเป็นต้นแบบชั้นยอดให้กับทีมงานสร้าง ‘The Last Of Us’ ทั้งบรรยากาศของเกม ระบบคู่หูที่เป็นสาวน้อย ไปจนถึงระบบการควบคุมตัวละครที่ทีมงานหยิบมาเป็นต้นแบบ ส่วนอีกเกมอาจจะเป็นเกมเก่าหน่อยอย่าง ‘ICO’ ที่เป็นเกมแอ็กชันแนวแก้ปริศนาที่เราจะได้รับบทเป็นเด็กชายมีเขา ที่ต้องร่วมมือกับหญิงสาวแก้ปริศนาต่าง ๆ ในหอคอยที่เรากับ ‘AI’ หญิงสาวต้องร่วมมือกันไขปริศนาที่แม้เกม ‘The Last Of Us’ จะไม่ค่อยมีปริศนาให้แก้ แต่เกม ‘ICO’ ก็เด่นทางด้านเนื้อเรื่องที่ทำให้เราอินไปกับความสัมพันธ์ของสองตัวละครได้อย่างไม่น่าเชื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองเกมนี้จะถูกนำมาเป็นต้นแบบให้เกม ‘The Last Of Us’ ใครที่ไม่เคยเล่นสองเกมนี้โดยเฉพาะ ‘ICO’ แนะนำเลย
ภาพยนตร์ที่ถูกยกเลิกก่อนจะเข้าสู่ซีรีส์
หลังจากที่ปิดบังกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับภาพของสองนักแสดงหลักในซีรีส์ ‘The Last Of Us’ ในที่สุดทาง ‘HBO’ ก็ปล่อยภาพแรกของทั้งคู่ให้เราได้เห็น ซึ่งเป็นภาพของโจเอลที่แสดงนำโดย เปโดร ปาสกาล (Pedro Pascal) จากซีรีส์ ‘The Mandalorian’ ส่วนสาวน้อยเอลลี่ก็ได้ เบลล่า แรมซีย์ (Bella Ramsey) จากซีรีส์ ‘Game of Thrones’ มารับบท ซึ่งกว่าที่เราจะได้เห็นซีรีส์เป็นตัวเป็นตนอย่างในตอนนี้ ตัวเกม ‘The Last Of Us’ ก็เคยเกือบถูกเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วกับการกำกับของ แซม ไรมี (Sam Raimi) ในปี 2015 โดยมี นีล ดรัคแมน (Neil Druckmann) เป็นคนเขียนบท แต่ทาง ‘Sony’ เห็นว่าตัวบทภาพยนตร์ไม่สามารถเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์แอ็กชันที่ดึงดูดผู้ชมได้ บทภาพยนตร์ของเกม ‘The Last Of Us’ เหมาะเป็นภาพยนตร์อินดี้ขนาดเล็กเสียมากกว่า จนมาถึงเดือนมีนาคม 2020 ได้มีการประกาศการสร้างซีรีส์จากเกม ‘The Last Of Us’ ที่เราได้เห็น ที่จนถึงตอนนี้ตัวซีรีส์ยังไม่มีกำหนดฉายแต่คาดว่าในอีกไม่นานเราคงจะได้เห็นภาพตัวอย่างหรือกำหนดฉายอย่างแน่นอน
The Last Of Us Remake ความคาดหวังที่รอคอยของแฟนเกม
จะเรียกว่าเป็นความหวังของแฟน ๆ ก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก หรือจะพูดว่าไม่อยากได้ก็พูดได้ไม่เต็มเสียง เกี่ยวกับการ ‘Remake’ เกม ‘The Last Of Us’ ภาคแรกที่มีอายุเพียงแค่ 9 ปีในตลาด ซึ่งหลายคนก็เปรียบเทียบกราฟิกในฉบับ ‘Remastered’ กับฉบับ ‘Remake’ ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มาก เมื่อเทียบกับ ‘Final Fantasy VII Remake’ หรือ ‘Resident Evil 2 Remake’ เพราะสองเกมนี้ใช้เวลาให้แฟน ๆ รอคอยมากว่า 20 ปี แต่สำหรับ ‘The Last Of Us’ มันดูเร็วไปที่จะเอามาทำใหม่ตอนนี้ในความคิดของใครหลาย ๆ คน แต่ทางทีมพัฒนาก็สัญญาว่าเกมจะไม่ได้เปลี่ยนแค่กราฟิกอย่างเดียว แต่จะเปลี่ยนระบบการควบคุมให้คล่องตัวแบบที่ ‘The Last Of Us Part ll’ ทำได้ รวมถึงการแก้ไขรูปแบบการเล่นเกมการควบคุม เพื่อรองรับคุณสมบัติฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ของ ‘PlayStation 5’ เช่นเสียง ‘3D’ และการตอบสนองระบบสัมผัสแบบทริกเกอร์ของคอนโทรลเลอร์ ‘DualSense’ เพื่อให้คนเล่นได้สัมผัสความสนุกที่มากขึ้น ซึ่งสำหรับคนที่เคยเล่นฉบับเก่าหรือ ‘Remastered’ มาแล้วอาจจะลังเลว่าจะซื้อมาเล่นไหม แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อนนี่คือประสบการณ์ที่คุณไม่ควรพลาด แต่ต้องไปหาเครื่อง ‘PlayStation 5’ ให้ได้ก่อนนะ
รอฉบับ Remake หรือไปเล่นแบบ Remastered
สำหรับคนที่เคยเล่นเกมซีรีส์ ‘The Last Of Us’ มาแล้วคงจะมีคำตอบอยู่ในใจอย่างแน่นอนว่าตัวเองจะเล่นฉบับ ‘Remake’ ไหม แต่สำหรับที่ยังเคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อนอาจจะเกิดความลังเล โดยเฉพาะคนที่มีเครื่อง ‘PlayStation 5’ อยู่ในบ้านและได้อ่านบทความนี้ หรืออาจจะได้ดูตัวอย่างไปจนถึงเสียงเล่าอ้างถึงความสนุกเนื้อเรื่องดีงามจนอยากเล่น เราก็ขอแนะนำให้คุณไปหาฉบับ ‘Remastered’ ที่มีทั้งบน ‘PlayStation 4’ และ 5 มาเล่นไปเลย พอเล่นจบแล้วก็ไปหา ‘The Last Of Us Part ll’ มาเล่นต่อเลย แล้วพอเกมฉบับ ‘Remake’ ออกมาถึงตอนนั้นคุณจะรู้ตัวเองทันทีว่าจะยอมเสียเงินเพิ่มอีกเกือบ 2,000 บาทเพื่อเล่นเกมเดิมที่เพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ ลงไปหรือไม่ ซึ่งถ้าคุณไปถามแฟนเกมนี้ในบ้านเรา ที่แม้จะมีคนบ่นว่าตัวเกมเร็วไปที่ออก ‘Remake’ แต่ถ้าถามว่าซื้อไหม เกือบทุกคนก็จะพูดสั้น ๆ คำเดียวว่า “ซื้อ” แบบไม่มีเงื่อนไข เอาง่าย ๆ บางคนซื้อทั้งฉบับ ‘PlayStation 3’ พอ ‘Remastered’ ลงบน ‘PlayStation 4 -5’ ก็ไปซื้อกันอีกรอบแบบไม่มีใครบ่น เพราะเกมดี ๆ แบบนี้เอามาเล่นกี่ทีก็ไม่เบื่อ หรือถ้าคุณอยากรับรู้เรื่องราวแบบ 100% แบบซับภาษาไทยก็รอฉบับ ‘Remake’ ไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับคุณเลยว่าจะรอคอยได้รึเปล่า
The Last Of Us Part IIl จะไปในทิศทางไหน
ปิดท้ายกับการคาดการณ์เกี่ยวกับ ‘The Last Of Us Part IIl’ จะไปในทิศทางไหน โดยเราจะขออ้างอิงเนื้อหาของเกม ‘The Last Of Us’ ทั้งสองภาคมาเป็นแกนหลัก ที่ถ้าในภาคแรกทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความรักการปกป้อง ภาคสองคือความโกรธเกลียดเคียดแค้น ถ้าอย่างนั้นในภาคที่สามของซีรีส์คราวนี้ก็คือการปลดปล่อยให้อภัยและจุดสิ้นสุด ที่เดาว่าภาคที่ 3 อาจจะเป็นการพาเราไปค้นหาจุดกำเนิดของเชื้อรา และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทิ้งเอาไว้ในเกมภาค 2 ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับเอลลี่ ที่เมื่อเธอกลับมาบ้านก็พบกับความว่างเปล่า ชีวิตของเอลลี่จะดำเนินไปทางไหน ซึ่งกว่าเราจะได้รับรู้เรื่องราวนั้นคงต้องรอคอยไปอีกหลายปีแน่ ๆ เพราะกว่าที่เราจะได้เล่น ‘The Last Of Us’ ภาคแรกก็คือช่วงท้ายของยุค ‘PlayStation 3’ ส่วนภาค 2 ก็เป็นช่วงท้าย ‘PlayStation 4’ และหวังว่าเราคงไม่ต้องรอจนถึงช่วงท้ายปลายยุค ‘PlayStation 5’ เราจึงจะได้เล่นแบบ 2 ภาคก่อนหน้านี้ก็พอ และเราก็เชื่อว่านี่จะเป็นภาคปิดท้ายของเรื่องราวในครั้งนี้ให้จบลงอย่างสมบูรณ์อย่างแน่นอน
ก็จบกันไปแล้วกับการแนะนำทำความรู้จักเกม ‘The Last Of Us’ สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งรู้จักเกมซีรีส์นี้ได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจว่าเกมนี้ ว่ามีระบบการเล่นและสิ่งดีงามแบบไหน พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับซีรีส์ภาพยนตร์ รวมถึงการช่วยคิดสำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะรอซื้อฉบับ ‘Remake’ มาเล่นหรือซื้อฉบับ ‘Remastered’ มาแก้ขัดระหว่างรอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยได้ไม่มากก็น้อย ส่วนคราวหน้าถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับซีรีส์เกม ‘The Last Of Us’ เราจะรีบมารายงานให้ทราบทันทียังไงก็รอติดตามกันได้ รับรองว่าคุณจะไม่พลาดข่าวสารวงการเกมการ์ตูนแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส